ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผลวิจัยชี้ สูบบุหรี่จัดเสี่ยงมะเร็งช่องปากมากกว่าปกติ 3.16 เท่า ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป กินเหล้า เคี้ยวหมาก เสี่ยงมากสุด สสส.โยนคนไทยต้องรู้จักสังเกตโรคเอง แต่ยังหนุนเครือข่ายทันตแพทย์ ช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากให้กลุ่มเสี่ยง บอกพบเร็ว-รักษาหาย-จ่ายน้อย

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่โรงแรมสยามซิตี ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “สถานการณ์โรคมะเร็งช่องปากในไทย” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ปีละกว่า 4 หมื่นราย โดยบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคสำคัญลำดับต้นๆ เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งช่องปาก ฯลฯ ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากภาระค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก และจากการศึกษาของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ยังพบอีกว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งช่องปากมากกว่าผู้ไม่เคยสูบบุหรี่ 3.16 เท่า โดยเครือข่ายทันตแพทย์จะเป็นหน่วยงานด่านแรกที่สามารถช่วยจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ด้วยการตรวจคัดกรองวินิจฉัยรอยโรคก่อนเกิดมะเร็งช่องปากในระยะเริ่มต้น รวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อป้องกัน ซึ่ง สสส.ได้สนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว เพราะช่วยลดการเกิดโรคได้

พล.ท.พิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการโครงการกลยุทธ์วิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า โครงการแผนงานวิชาชีพทันตแพทย์ฯโดยการสนับสนุนจาก สสส.ได้สนับสนุนในสถานทันตกรรมทุกแห่งของรัฐ จัดบริการสำรวจ และคัดกรองตรวจวินิจฉัยรอยโรค และมะเร็งช่องปากในระยะเริ่มต้นให้กับกลุ่มเสี่ยงทุกราย ควบคู่กับการให้คำแนะนำเลิกบุหรี่ โดยผู้ป่วยบัตรทองตรวจฟรี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ขณะนี้มี 14 จังหวัดที่จัดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปาก เช่น พิษณุโลก แพร่ สุพรรณบุรี ฯลฯ ล่าสุดคือ สมุทรปราการ และคาดว่า สิ้นปี 2555 ในภาคตะวันออกจะเป็นภาคแรกที่จัดบริการตรวจคัดกรองได้ครบทุกจังหวัด

นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่สามารถวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มแรก และสามารถรักษาหายขาดได้ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลง แต่กลับพบว่าอัตรารอดชีวิต 5 ปี ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก มีเพียงประมาณ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ที่พบอัตรารอดชีวิต 5 ปี สูงถึง 60% ทั้งที่เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจพบระยะเริ่มแรกได้เช่นเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้อัตรารอดชีวิตน้อย เกิดจากการพบรอยโรคช้า เนื่องจากขาดความรู้ในการสังเกตอาการตนเอง ประชาชนจึงควรพบทันตแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

รศ.ทพ.วรนัติ วีระประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในประเทศไทย (Costs of Care for Oral Cancer in Thailand) กล่าวว่า จากการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับโรงพยาบาล 5 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.ชลบุรี รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น พบผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก 858 ราย ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีถึง 91% ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 59.73% ดังนั้น ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรค ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 80,454 บาทต่อราย หรือคิดเป็น 64.1% ของรายได้ต่อปี โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีอาการเข้าสู่ระยะที่ 4 มีค่ารักษาอยู่ที่ 100,883 บาทต่อราย ผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่ารักษาสูงสุดอยู่ที่ 131,124.27 บาท ดังนั้น การค้นพบโรคในระยะเริ่มต้นจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีและลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาได้

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สัญญาณเตือนของมะเร็งช่องปากระยะแรก ได้แก่ มีแผลเรื้อรังในช่องปากไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ มีรอยโรคสีขาว สีแดง หรือสีขาวปนแดงบริเวณเนื้อเยื่อในช่องปาก มีขอบลิ้น ขอบริมฝีปาก หรือตำแหน่งอื่นๆ ในช่องปากที่มีลักษณะแข็งเป็นไต ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ มักพบบริเวณด้านข้างของลิ้น ใต้ลิ้น บริเวณด้านหลังของฟันซี่สุดท้าย และเพดานปาก กลุ่มเสี่ยงคือคนอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าหญิง มีปัจจัยเสี่ยง คือ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ช่องปากไม่สะอาด กินหมาก ผู้ทำงานกลางแจ้ง จะเสี่ยงเป็นมะเร็งที่ริมฝีปาก หรือมีคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนบน และผู้ติดเชื้อไวรัส HPV

ที่มา : www.manager.co.th