ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการตลาดค้าส่งและผู้ประกอบการ ศูนย์กระจายสินค้า ในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร และการปรับปรุงตลาดค้าส่ง ให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ตลาดสด น่าซื้อ หลังสุ่มตรวจตลาดนัด 130 แห่ง พบอาหารมีการปนเปื้อนสารเคมีและแบคทีเรีย 

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้ประกอบการตลาดค้าส่งและผู้ประกอบการศูนย์กระจายสินค้า ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันรูปแบบการค้าในลักษณะรถเร่และตลาดนัดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มักซื้อสินค้าจากตลาดค้าส่งหรือตลาดใหญ่ ๆ ที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งหากสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่สะอาดปลอดภัยจะกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้บริโภค เพราะจากการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารและสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารในตลาดนัดโดยกรมอนามัยในปี 2553 ซึ่งสุ่มสำรวจตลาดนัด 130 แห่ง โดยเก็บตัวอย่าง อาหารสดและอาหารพร้อมบริโภค จำนวน 3,073 ตัวอย่าง พบว่ามีสารเคมีและแบคทีเรียปนเปื้อนรวม 722 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23.49 โดยเป็นตัวอย่างที่ตรวจสอบด้านเคมี จำนวน 2,029 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 331 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 16.31 ซึ่งพบว่ามีสารฟอกขาวที่ปนเปื้อนมากที่สุด ถึงร้อยละ 33.33 ของตัวอย่างที่มีสารเคมีตกค้าง รองลงมาคือ สารกันรา ฟอร์มาลิน และบอแรกซ์ ตามลำดับ โดยพบในอาหารประเภทหน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ขิงหั่นฝอย และผลไม้ดองต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ 391 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ 1,044 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37.45 

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สารปนเปื้อนเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หากมีการรับประทานเป็นจำนวนมากจะเกิดการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันคือ มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่หากรับประทานอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดการสะสม ส่งผลให้ป่วยเป็นโรคไตอักเสบ ไตวาย หรือโรคมะเร็งตามมา ดังนั้น การจัดระบบความปลอดภัยอาหารจึงต้องครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) โดยแบ่งการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การเพาะปลูกทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ ระดับกลางน้ำเป็นการควบคุมที่ตลาดสด ตลาดค้าส่ง รวมถึงโรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร รถเร่ ตลาดนัด และการจัดการที่ปลายน้ำคือ การจัดการสถานที่ปรุง ประกอบและจำหน่ายอาหาร ซึ่งการควบคุมกำกับความปลอดภัยอาหารในระดับกลางน้ำและปลายน้ำในเชิงมาตรฐานและนโยบายอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหน่ายงานราชการส่วนท้องถิ่นนำไปบูรณาการและใช้ในระดับพื้นที่ 

“ทั้งนี้ ในการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของตลาดนัดและรถเร่ ซึ่งมีจำนวนมากและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการควบคุมกำกับ กระทรวงสาธารณสุขจึงเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องยกระดับตลาดค้าส่งให้ได้มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ ซึ่งประกอบด้วยเกณฑ์ 3 ด้าน คือ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านอาหารปลอดภัย และด้านคุ้มครองผู้บริโภค หากพัฒนาคุณภาพตลาดค้าส่งให้ได้มาตรฐาน ตลาดสด น่าซื้อ จะช่วยให้สินค้าที่จำหน่ายในรถเร่และตลาดนัดมีความปลอดภัยมากขึ้น” นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าว 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ประกอบการตลาดค้าส่งและผู้ประกอบศูนย์กระจายสินค้าที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ นับเป็นกลุ่มบุคคลหลักในการปรับปรุงและพัฒนาตลาดค้าส่งให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ตลาดสด น่าซื้อ และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความปลอดภัยอาหาร โดยสามารถส่งต่อข้อมูลจากการสุ่มตรวจสารปนเปื้อนกลับไปยังแหล่งผลิตหรือจังหวัดต้นทางของสินค้า เพื่อให้มีการควบคุม กำกับ การผลิตหรือการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐานอันจะส่งผลให้เกิดระบบความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ซึ่งการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร จึงต้องบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน