ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากงานสัมมนาราชดำเนินเสวนา นำร่องฉุกเฉินมาตรฐานเดียว : จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอนาคต 3 กองทุนฉุกเฉิน จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

หลังจากที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นเอ็มโอยู 3กองทุน สุขภาพ บริการระบบฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ไม่ต้องถามสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการสุขภาพนั้น นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ได้ออกมาเปิด 3 ประเด็น จี้รัฐเดินหน้าต่อหลังรวมจัดการระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนเพราะยังมีกลุ่มคนที่ตกสำรวจถึง 12 ล้านคน รวมทั้งควรขยายบริการจัดการไปยังกลุ่มโรคอื่น ทั้ง ไต เอดส์ และ มะเร็ง

นพ.พงศธร กล่าวว่า หลังวันที่ 1 เมษายน 2555  ซึ่งเป็นการเริ่มระบบรวมบริการจัดการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาล โดยทุกคนทั้ง 3 กองทุนจะได้รับสิทธิบริการที่เหมือนกันคือเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกที่ รักษาทั่วถึงทุกคน

ขอฝากประเด็นไปยังรัฐบาลที่ต้องทำต่อเนื่อง คือ 1.การครอบคลุมสิทธิประโยชน์ให้คนไทยทุกคน เพราะยังมีคนไทยบางกลุ่มที่ไม่รวมอยู่ราว 12 ล้านคน อย่าง ข้าราชการท้องถิ่น อบต. อบจ. กทม. และรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงคนไทยไร้สัญชาติอีก 500,000 คน 2.การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าดีอาร์จี 15,000 บาท ที่สูงกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและข้าราชการซึ่งจ่ายที่ 10,500 บาท

ทั้ง ยังเป็นอัตราที่เกินและไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากเป็นการคำนวณจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีการแยกสิทธิ ทำให้ประเทศสูญเสียเงินไปกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย

สำหรับประเด็นที่ 3 รัฐบาลควรขยายการรวมบริหารจัดการไปยังการรักษาโรคอื่นๆ เพื่อเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้ยินว่าจะทำต่อในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตและเอดส์ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ทำในกลุ่มโรคมะเร็งด้วย เพราะผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุนยังมีความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษาอยู่มาก อย่าง ยาริทูซิแมบใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ราคาเข็มละ 62,000 บาท ผู้ป่วยต้องฉีด 6-8 เข็ม ค่ารักษาอยู่ที่ 500,000 บาท ซึ่งมีเพียงกองทุนสวัสดิการข้าราชการเพียงระบบเดียวที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้

ทั้ง นี้หากมีการบริหารจัดการร่วมกันจะทำให้ผู้ป่วยอีก 2 ระบบมีโอกาสในการรักษามากขึ้น เพราะในช่วงที่มีการดำเนินนโยบายประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) มีการต่อรองเหลือเพียงเข็มละ 27,000 บาทเท่านั้น

นอกจาก นี้ยังมีโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาอีก คือการจัดการเตียงผู้ป่วยเพื่อรองรับ รวมถึงการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพราะไม่เช่นนั้นไม่ว่าระบบจะดีอย่างไรก็มีปัญหาการเข้าใช้สิทธิได้

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมอยู่แล้วในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายการรวม บริหารจัดการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน เพราะก่อนหน้านี้ต้องปฏิบัติ พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาในการเข้ารับบริการฉุกเฉิน ปกติจะไม่มีการถามสิทธิ์อยู่แล้ว แต่การตรวจสอบสิทธิจะเป็นเรื่องภายหลังเพื่อเบิกจ่าย และที่ผ่านมาพบว่ามีคนไทยบางกลุ่มที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน

ต้องบอก ว่า รพ.เอกชนพร้อมจะให้บริการอยู่แล้วเพียงแต่ต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาใน ทางปฏิบัติทั้งในเรื่องของนิยามฉุกเฉิน รวมไปถึงเป็นกังวลในเรื่อง หลังจากที่ให้บริการฉุกเฉินจนอาการทุเลาแล้ว การส่งกลับรพ.ต้นสังกัด ควรจะต้องให้ รถของศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน แห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหน่วยงานบริการ รวมทั้ง ควรจะมีการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในเครือข่ายรองรับเอาไว้ให้ชัดเจน ด้วย

ผมเป็นห่วงในเรื่องการส่งผู้ป่วยกลับต้นสังกัดหลังจากที่ รักษาจนอาการทุเลาแล้ว อยากให้ สพฉ.เข้ามาดูแลส่งกลับ และต้องการให้โรงพยาบาลในเครือข่ายมีความชัดเจนในการรองรับผู้ป่วยด้วยไม่ ใช่พอจะส่งกลับก็บอกเตียงไม่ว่างตลอดซึ่งในเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนด้วย นพ.เฉลิม กล่าว

สปสช.แจง รพ.เอกชน แนวเบิก-จ่ายฉุกเฉิน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดประชุมผู้บริหาร และหัวหน้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน จำนวนกว่า 500 คน เพื่อชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษา ผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2555 ผู้เข้าและชี้แจงการวิเคราะห์และตัดสินอาการของผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งแนวทางการเบิกเงินชดเชย

นพ.วินัย กล่าวว่า ในการจ่ายค่าชดเชยบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชน กรณีเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุน ให้ดำเนินการตามปกติ กรณีเข้ารับบริการนอกเครือข่าย หากเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ได้รับไว้ในโรงพยาบาล ให้ใช้อัตราการเบิกจ่ายที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง และในกรณีที่รับผู้ป่วยรักษาเป็นผู้ป่วยใน จะจ่ายในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี

ขณะ นี้ทั้ง 3 กองทุน ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเบิกจ่าย โดยมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ โดยกรมบัญชีกลางได้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการไม่ต้องสำรองจ่าย และสามารถชดเชยในอัตรา 10,500 บาท ต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับระบบการเบิกจ่ายกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ปรับปรุงประกาศเพื่อให้ใช้อัตรากลาง โดยให้ สปสช. เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing house) ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่ให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

ส่วน โรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียม หรือเอกชนชั้นหนึ่ง เช่นโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ยินดีร่วมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าขั้นวิกฤติหรือเร่งด่วนที่ไปใช้ บริการ ภายใต้มาตรฐานและรับการชดเชยในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก

นอกจากนี้จะให้ สปสช. จัดระบบประสานงานการชดเชยกับกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรง พยาบาล และระบบส่งต่อผู้ป่วยให้เข้มแข็งขึ้น ระบบปกติของทั้ง 3 กองทุนยังดำเนินไปตามปกติ และจะมีการปรับ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปสช.จะได้เร่งประชาสัมพันธ์ สื่อสารเรื่องภาวการณ์ป่วยฉุกเฉิน เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชน และวิธีการรับบริการโรงพยาบาลเพื่อให้เข้าใจตรงกัน

ส่วนนิยามผู้ ป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที

ยกตัวอย่าง เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น หากไม่แน่ใจโปรดโทรสายด่วน 1669

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555