ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายกรัฐมนตรี มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ กำหนดทิศทางและกลไก มาตรการควบคุมกำกับการใช้ยาให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า บูรณาการร่วมกันของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ เผยในปี 2551 คนไทยใช้ยาสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท แนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 65 เป็นกลุ่มยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง จัด 2 มาตรการแก้ไขระยะสั้น ระยะยาว ให้ใช้ยาคุ้มค่า เหมาะสม โดยใช้กลไกต่อรองราคายาที่ใช้มากและราคาแพง มีผู้ผลิตรายเดียว

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการใช้ยาของคนไทย ว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 32 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดในปี 2542 เพิ่มเป็นร้อยละ 46 ในปี 2551 คิดเป็นมูลค่าการขายปลีกสูงถึงประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือมูลค่าการขายส่ง 1.5 แสนล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ พบว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าการใช้ยาทั้งหมดเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ กลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูง อาทิ ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบ ยาลดไขมันในเลือด และยาลดความดันโลหิต ร้อยละ 65-91 เป็นยานอกบัญชียาหลักฯ ที่มีผู้ผลิตรายเดียวหรือเป็นยาต้นแบบที่มีราคาแพง

นายวิทยากล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ 1 ชุด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อธิบดีกรมการแพทย์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา รองปลัดกระทรวงการคลัง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ และนายประดิษฐ สิทธวณรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร โดยมี อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

จากการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดทิศทางและกลไก มาตรการควบคุมกำกับการใช้ยาให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า บูรณาการร่วมกันของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือประกันสังคม บัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการ ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และตั้งคณะทำงานรับผิดชอบในแต่ละเรื่อง โดยมาตรการระยะสั้นประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การเจรจาต่อรองราคายาที่มีราคาแพงและมีการใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะยานอกบัญชียาหลักฯ ที่มีผู้จำหน่ายรายเดียว ได้มอบให้องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม กำหนดรายการยาและระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน 2.การควบคุมกำกับการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ และยาต้นแบบในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ มอบให้กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือสวรส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายในเดือนกันยายน 2555 และ3.ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดกลไกกลางในการตรวจสอบการเบิกจ่ายยา

สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แก่ 1.ให้ 3 กองทุนสุขภาพพัฒนารูปแบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกัน คือ การจ่ายแบบตกลงราคาล่วงหน้า คิดเป็นรายหัว ซึ่งระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดำเนินการอยู่แล้ว โดยมอบหมายให้ศูนย์พัฒนาโรคร่วมไทย เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2556 2.ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และกรมในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จัดทำนโยบายกำกับการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติและส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ การสร้างระบบสร้างความเชื่อมั่นต่อยาชื่อสามัญที่จำหน่ายในท้องตลาด และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องการใช้ยา โดยให้จัดทำแผนดำเนินการและงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

และ3.มอบให้กรมการแพทย์ ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยต่างๆ จัดทำแนวเวชปฏิบัติในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักในกลุ่มที่มีมูลค่าการใช้ยาสูง จัดทำข้อบ่งชี้การใช้ตามแนวเวชปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2555 เพื่อเริ่มใช้ในปี 2556 ทั้งนี้ ให้แต่ละคณะทำงานตามมาตรการระยะสั้นและระยะยาว นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานในการประชุมครั้งต่อไป ในเดือนกรกฎาคม 2555