ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นักวิจัยสรุปบทเรียนการถ่ายโอนสถานีอนามัย พบเป็นทิศทางที่ดี แต่ติดปัญหาไม่มีคนทำงานแนะเตรียมความพร้อมให้ความรู้ท้องถิ่น-คนทำงานก่อนถ่ายโอนรอบ 2 ด้าน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมรับการถ่ายโอน เตรียมงบให้ปีแรก 2 ล้าน

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในงานสรุปบทเรียนและทิศทางการถ่ายโอนสถานีอนามัย ที่จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ว่า การถ่ายโอนสถานีอนามัยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นการเปลี่ยนแปลง จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อชุมชนและชาวบ้านมีความเข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมามีการถ่ายโอนไปแล้ว 28 แห่ง แต่มีบางแห่งที่ค่อนข้างมีปัญหา เพราะฉะนั้นต่อจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นทิศทางที่ดีเป็นการเปลี่ยนแปลงตามรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง นักวิจัยจาก สวรส. กล่าวว่า การประเมินผลท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบของพื้นที่มีการถ่ายโอนสถานีอนามัยแล้ว 28 แห่งพบว่าเป็นแนวทางการกระจายอำนาจที่ถูกต้องแล้วเพราะผู้ปฏิบัติงานมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือการไม่มีบุคลากรเข้ามาทำงานตามอัตราที่ระบุไว้ถึง 59 อัตรา เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องเร่งบรรจุอัตรากำลังที่ว่างให้เต็มโดยเร็ว ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นธรรม ส่วนเรื่องการเมืองในท้องถิ่นที่ยังคงเป็นปัญหาต่อการถ่ายโอนนั้น เห็นว่าต้องให้ระยะเวลาเขาในการปรับตัว

"การเตรียมความสำหรับพร้อมพื้นที่ถ่ายโอนใหม่ คือต้องจัดทำคู่มือจากกรณีตัวอย่างจาก 28 แห่ง คู่มือการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ การสร้างกระบวนการผู้บริหารชุมชนให้เรียนรู้องค์กรใหม่เข้าส่วน สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ให้อำนาจการบริหารงานแก่สถานีอนามัยและ อปท."

นายปิยะ คันกัง ตัวแทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การถ่ายโอนไม่ต้องกังวลใจ ปล่องให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ซึ่ง อปท.ทั้ง 6 พันแห่งมีความพร้อมจะรับการถ่ายโอน และไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ เพราะท้องถิ่นสามารถของบอุดหนุนได้ ปีแรกจะให้แห่งละ 2 ล้านบาท ส่วนปีต่อๆไปจะให้แห่งละ 1 ล้านบาท

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ สำนักวิชาการ สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีอนามัยที่มีความสนใจที่จะถ่ายโอนในตอนแรกประมาณ 500 แห่ง ทำเรื่องเข้ามาจริง 170 แห่ง แต่ผ่านการประเมินเพียง 25 แห่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการจะถ่ายโอนรอบ 2 อปท. จึงอยากให้มองหลายๆ ด้าน เช่น ขนาดของสถานีอนามัย ขนาดของชุมชน ปัญหาการบริหารงานและการส่งต่อผู้ป่วย การจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพที่สามารถตรวจสอบได้

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ 25 มิ.ย.55