ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มีเสียงเรียกร้องมานาเป็นนับสิบปี ให้เปลี่ยนสถานะสำนักงานประกันสังคม ไม่ให้เป็นส่วนราชการ แต่ให้เป็นองค์กรมหาชน รวมทั้งปรับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม ให้ลูกจ้างผู้ประกันตนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากรัฐบาลที่ผ่านๆมา ส่อแสดงว่านักการเมืองและข้าราชการยังต้องการควบคุมการประกันสังคม ซึ่งมีกองทุนมหาศาล

เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงจึงดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตัวแทนฝ่ายแรงงานได้เสนอข้อมูลต่อเวทีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ระบุว่ามีผู้ประกอบการค้างเงินสมทบประกันสังคม 33,071 ราย เป็นเงิน 4,047 ล้านบาท แต่ที่น่าแปลกใจมากที่สุด แม้แต่รัฐบาลก็ยังค้างเงินสมทบประกันสังคมถึง 63,200 ล้านบาท

ถ้าหากข้อมูลเรื่องรัฐบาลค้างเงินสมทบประกันสังคมเป็นความจริง ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ จะว่ารัฐบาล “ถังแตก” ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังทุ่มเงินมหาศาลเพื่อจัดตั้งกองทุนต่างๆ นำเงินภาษีของประชาชนมาหาคะแนนนิยมกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาสตรี กองทุนตั้งตัวได้ กองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน เป็นต้น

ในเวทีการเสวนาทางวิชาการเวทีเดียวกัน นายกิตติพงศ์ กมลธรรม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยได้เสนอให้เปลี่ยนสถานภาพของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรมหาชน และปรับปรุงที่มาและอำนาจคณะกรรมการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2545 เพราะการให้ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานไม่เป็นอิสระ

สอดคล้องกับสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ที่เสนอความเห็นไว้ตั้งแต่ปี 2554 ให้ปรับปรุงที่มาและอำนาจคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันอย่างชัดเจน ในการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกำหนดให้ สปส. “เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ” และให้มีคณะกรรมการลงทุนผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

กองทุนประกันสังคมมีเงินทุนถึง 789,181 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553) เป็นกองทุนที่ใหญ่โตมโหฬารและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างกว่า 10 ล้านคน จึงต้องมีคณะ กรรมการผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนโดยเฉพาะ เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้น และกองทุนได้รับความเสียหายใหญ่หลวงต้องวุ่นวายแน่ และใครจะรับผิดชอบ?

เนื่องจากการบริหารการประกัน สังคมเป็นระบบราชการ และอยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล จึงไม่น่าแปลกใจถ้าข่าวที่ว่ารัฐบาลค้างเงินสมทบถึง 63,200 ล้านบาท เป็นความจริง เพราะไม่กล้าทวงถามหรือเร่งรัดหนี้รัฐบาล ทั้งยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องให้ปรับคุณภาพการรักษาพยาบาลลูกจ้างให้เท่าเทียมกลุ่มอื่นๆ และไม่ขยายการประกันสู่แรงงานกว่า 24 ล้าน ที่ไม่มีหลักประกัน

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐวันที่ 29 ส.ค.55