ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันนี้ (29 สิงหาคม 2555) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหาร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงต่างๆ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดน 31 จังหวัด ผู้ประสานงานสาธารณสุขชายแดนจาก 31 จังหวัด และนักวิชาการจำนวน 150 คน เพื่อชี้แจงแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดนฉบับที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ของกระทรวงสาธารณสุข จัดโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 เพื่อใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าว

นายวิทยากล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาสุขภาพประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนใน 31 จังหวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือต้องการเห็นการมีสุขภาพดีที่ชายแดน เนื่องจากการดำเนินงานด้านสุขภาพตามแนวชายแดน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในทิศทางที่สอดคล้องกัน ทั้งเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ความมั่นคงชายแดน เนื่องจากปัญหาตามแนวชายแดนมีความซับซ้อน และละเอียดอ่อนกว่าพื้นที่อื่น โดยแผนแม่บทดังกล่าวประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการ ทังนี้แผนฉบับนี้จะเป็นการสร้างความพร้อมของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จังหวัดตามแนวชายแดน 31 จังหวัด จะเป็นด่านหน้าของการเคลื่อนย้ายมากมาย ทั้งประชากรและสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาในฝั่งไทย จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว

นายวิทยากล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาตามแนวชายแดน ขณะนี้มีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แก่ 1. โรคติดต่อสำคัญ 7 โรค ได้แก่ มาลาเรีย วัณโรค โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคอุจจาระร่วง โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน และโรคที่เกิดขึ้นในอดีตแต่หวนกลับมาเป็นปัญหาใหม่ โดยในปี 2552 พบอัตราป่วยโรคมาลาเรียสูงสุดที่ 3 จังหวัดชายแดน คือ จ.ตาก อัตราป่วย 1881 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ระนอง และพบปัญหาเชื้อดื้อยาเพราะกินยาไม่ต่อเนื่อง เช่น วัณโรค มาลาเรีย ทำให้ต้นทุนการรักษาสูงขึ้นเพราะต้องใช้ยาแพงขึ้น 2. ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก พบอัตราการตายของหญิงคลอดบุตรและเด็กแรกเกิดตามแนวชายแดนสูงกว่าพื้นที่ปกติ ค่านิยมของคนต่างด้าวมักชอบมีลูกมาก ทำให้อัตราการเกิดของเด็กที่ไม่มีสัญชาติในไทยสูงกว่าอัตราเกิดของเด็กไทย 3. ข้อจำกัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อระหว่างประเทศ และพื้นที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งไทยมีศูนย์พักพิง 9 แห่งใน 4 จังหวัด คือตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี กาญจนบุรี

4.การลักลอบนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและผิดกฎหมาย ซึ่งพบอยู่เนืองๆ 5. ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลกระทบสุขภาพ เช่น การสู้รบตามแนวชายแดน การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ยังผิดกฎหมายคาดว่ามีประมาณ 2 ล้านคน โดยมีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน 9 แสนกว่าคน และมีคนต่างด้าวหรือคนไร้รัฐที่รอการพิสูจน์สถานะประมาณ 19 ชาติพันธุ์จำนวนกว่า 400,000 ราย

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในการพัฒนา แก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายสถานบริการที่มีมาตรฐานเหมือนพื้นที่ปกติ ให้มีจำนวนเพียงพอ จัดระบบบริการที่เป็นมิตร จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนและผู้ป่วยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราว เพื่อการดูแลรักษาให้หาย ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ จัดระบบการป้องกัน เฝ้าระวังโรคพื้นที่ชายแดนและข้ามเขตแดน โดยให้มีการจัดประชุมร่วมระหว่างจังหวัดชายแดนไทย กับประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกัน หรือจังหวัดคู่แฝด ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อร่วมมือกันกวาดล้างโรค พัฒนาระบบริการ และคุ้มครองความปลอดภัย อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่จำหน่ายตามแนวชายแดนร่วมกัน และจะเร่งรัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายทั้งหมด ภายใต้ความร่วมมือรัฐบาล ประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ขยายบริการสุขภาพ ให้แรงงานต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคา 1,900 บาท คุ้มครอง 1 ปี ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ดูแลรักษาเท่าเทียมคนไทย ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมป้องกันโรคติดต่อที่มากับต่างด้าวได้

ทั้งนี้ 31 จังหวัดชายแดนประเทศไทยมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ความยาวรวม 5,820 กิโลเมตร เป็นพรมแดนทางบก 3,205 กิโลเมตร ทางน้ำและชายฝั่งทะเล 2,164 กิโลเมตร โดยติดกับพม่า 10 จังหวัด กัมพูชา 7 จังหวัด ลาว 12 จังหวัดและมาเลเซีย 4 จังหวัด และมีต่างด้าวข้ามมาใช้มาบริการตรวจรักษาพยาบาลในฝั่งไทยประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยไทย