ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บอร์ด สปสช.ปรับเกณฑ์ให้ยาต้านไวรัสผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ เร่งหารือสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ใช้แนวปฏิบัติเดียวกัน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาเรื่องการขยายเกณฑ์การเริ่มรับยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายเกณฑ์การรับยาต้านไวรัสเอชไอวี เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีค่าซีดีโฟร์ (CD4) ที่ 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร (เซลล์/ลบ.มม.) ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และจะเริ่มใช้แนวทางดังกล่าววันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป และจะมีการหารือถึงแนวทางปรับเกณฑ์ดังกล่าวให้เท่าเทียมกันทุกกลุ่ม โดยมอบให้เลขาธิการ สปสช.หารือว่าจะครอบคลุมทั้งผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการพร้อมกันด้วยหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยเอชไอวีของ สปสช.คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 321 ล้านบาท และในระยะเวลา 4 ปี คาดว่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,374 คน

ด้านนางสุพัชรี มีครุฑ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 10 ล้านคน มีโรงพยาบาลหลัก 243 แห่ง และมีสถานพยาบาลเครือข่าย 2,283 แห่ง จากการประเมินความพึงพอใจในการรักษาพยาบาล พบว่าในปี 2554 ผู้ประกันตนพึงพอใจร้อยละ 77.40 สูงกว่าปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 75.80 ส่วนกรณีข้อร้องเรียนปี 2552 ร้อยละ 2.04 ต่อ 1 แสนคน ปี 2553 ร้อยละ 1.46 ต่อ 1 แสนคน และปี 2554 ร้อยละ 1.51 ซึ่งถือว่ามีข้อร้องเรียนน้อยมาก โดยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลถูกร้องเรียน 319 แห่ง ในจำนวนนี้โรงพยาบาลปฏิบัติไม่ถูกต้อง 67 แห่ง และถูกตักเตือน 2 แห่ง อีก 80 กรณีผู้ประกันตนเข้าใจผิด

ขณะที่ ดร.สิรินาฎ นิภาพร นักวิชาการสำนักงานวิจัย เพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ระบบเหมาจ่ายรายหัวในการจัดสรรงบประมาณในการรักษาโรคต่างๆ แก่ผู้ประกันตน ให้โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม มีผลกระทบต่อผู้ประกันตนในการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เพราะโรงพยาบาลหลักไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า เพราะไม่ต้องการตามจ่ายเงินชดเชย ส่งผลให้ผู้ประกันตนต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลหลัก ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ สปสช.ควรจัดตั้งหน่วยงานกลางเข้ามาทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลแห่งอื่นที่โรงพยาบาลหลักส่งต่อผู้ประกันตนไปรักษา และนำระบบสารสนเทศ (ไอที) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อ ส่วนระยะยาว สปสช.ควรจ้างหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเข้ามาดูแล และว่า เห็นด้วยกับการที่ 3 กองทุน ปรับมาตรฐานการรักษาโรคให้ใกล้เคียงกัน แต่การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามระบบวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ของทั้ง 3 กองทุน ยังมีอัตราที่แตกต่างกัน จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติมว่าจะมีการปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลตามระบบอย่างไรให้ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ศักยภาพการให้บริการการรักษาพยาบาลไม่เหลื่อมล้ำ--จบ--

ที่มา: นสพ.มติชน 4 ก.ย. 55