ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สำนักงานประกันสังคม ก้าวสู่ปีที่ 23 'เผดิมชัย สะสมทรัพย์' ลั่นเร่งขยายสิทธิประโยชน์หวังดึงแรงงานเข้าสู่ระบบ ปี 2556 ตั้งเป้าทวงคืนเงินสมทบจากนายจ้าง 2,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานทำบุญครบรอบ 22 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า ในวาระที่ สปส.ก้าวสู่ปีที่ 23 จะมีการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของ สปส.ที่ผ่านมา เพื่อดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งนายจ้างค้างชำระเงินสมทบเป็นวงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท เนื่องจากนายจ้างทำธุรกิจขาดทุน บางรายประสบปัญหาน้ำท่วมต้องเลิกกิจการ ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร สปส. หารือกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานอีก 4 กรม เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายให้สถานประกอบการชำระหนี้ หรือหากล้มละลายจะให้นำทรัพย์สินมาชำระหนี้ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2556 จะเรียกเก็บหนี้คืนประมาณ 2,000 ล้านบาท

นายเผดิมชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สปส.จะต้องพัฒนาระบบประกันสังคมและระบบบริการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยการบริการจะต้องมีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพ รวมทั้งมีโครงการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคประชาชนอยากเข้าสู่ระบบประกันสังคม เช่น โครงการรถพยาบาลฉุกเฉิน, โครงการศูนย์ฟอกไตในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม, การให้แรงงานกู้เงินเพื่อไปทำงานต่างประเทศ วงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้รายละ 30,000-100,000 บาท และให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลานผู้ประกันตนเพื่อสร้างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ สปส. รวมทั้งจะดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม ตามมาตรา 40 ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมากกว่า 1,200,000 คน เกินกว่าที่เป้าหมาย

"จากนี้การใช้เงินกองทุนประกันสังคมเรื่องการลงทุนและโครงการต่างๆ จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเห็นด้วย หากบางกรณีการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สปส.จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังการประชุม เพราะเป็นเงินสมทบที่เก็บมาจากฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างร่วมกัน โดยเงินที่ใช้ไปจะต้องนำมาใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ กลับคืนสู่ผู้ประกันตนและสังคม ทั้งนี้ ในอนาคต สปส.จะต้องปฏิรูปให้เป็นองค์กรมหาชน เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นแดนสนธยา ส่วนหนี้ที่รัฐบาลค้างชำระเงินสมทบวงเงินกว่า 60,000 ล้านบาทนั้น จะเสนอของบประมาณชำระเงินสมทบจากรัฐบาลในแต่ละปีให้มากขึ้น เพื่อให้หนี้ค้างชำระลดลง โดยงบประมาณปี 2556 ได้คืนมากว่า 30,000 ล้านบาท" นายเผดิมชัยกล่าว

ด้านนายอารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส.เปิดเผยว่า ในโอกาสที่กองทุนเงินทดแทนครบรอบ 40 ปี สปส.มีแนวคิดที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อให้สอดรับกับวิธีการจ้างงานและการทำงานของลูกจ้างในปัจจุบัน ซึ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยจากการทำงาน โดยจะต้องหาวิธีที่จะทำให้นายจ้างไม่หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบ นอกจากนี้อาจจะปรับให้มีการจ่ายเพิ่มกองทุนเงินทดแทนให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีการประสบอันตรายรูปแบบใหม่ๆ ค่อนข้างมาก รวมทั้งในปี 2556 อาจจะมีการขยายการคุ้มครองไปสู่กิจการหรือลูกจ้างที่ได้รับการยกเว้นให้มากขึ้น เช่น ลูกจ้างภาครัฐ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ

นายอารักษ์กล่าวว่า ขณะนี้สถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานพบว่าลดลงทุกปี สำหรับปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน พบว่า มีลูกจ้างเสียชีวิต 429 ราย ทุพพลภาพ 2 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน 379 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 18,294 ราย หยุดงานไม่เกิน 3 วัน 48,723 ราย

และพบว่าสาเหตุที่คนงานประสบอันตราย อันดับ 1 ได้แก่ วัสดุหรือสิ่งของตัด บาด ทิ่มแทง 29,382 ราย วัสดุสิ่งของพังทลาย หล่นทับ 20,537 ราย วัสดุสิ่งของหรือสารเคมีกระเด็นเข้าตา 19,471 ราย วัสดุสิ่งของกระแทก ชน 18,863 ราย ขณะที่อวัยวะที่ได้รับอันตรายมากที่สุด คือ นิ้วมือ 36,635 ราย ตา 23,087 ราย บาดเจ็บตามร่างกาย 8,851 ราย มือ 8,812 ราย เท้า 8,216 ราย ส่วนประเภทกิจการที่ลูกจ้างประสบอันตรายมากที่สุด คือ กิจการก่อสร้าง 9,275 ราย กิจการผลิตเครื่องดื่มและอาหาร 7,373 ราย กิจการเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ 6,978 ราย กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,978 ราย กิจการหล่อหลอม กลึงโลหะ 5,806 ราย

--มติชน ฉบับวันที่ 5 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--