ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศิริราช จัดประชุมคณบดี คณะแพทยศาสตร์อาเซียน ครั้งแรก หวังพัฒนาบริการทางการแพทย์ การวิจัย ทัดเทียมกัน ขณะที่หลายประเทศยังห่วงภาวะสมองไหล ด้าน มาเลเซีย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพประชุมครั้งหน้าโรงเรียนแพทย์ศิริราชครั้งต่อไป

แพทย์คือสาขา1ใน7 อาชีพที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในการเปิดเสรีอาเซียนในปี2558 ซึ่งความพร้อมในการเตรียมรับมือดังกล่าวล่าสุด ( 17 ก.ย.) โรงเรียนแพทย์จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้จัดประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีเป้าหมายเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์อาเซียน พร้อมประกาศลงนามเจตนารมณ์รวมพลังภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 12 โรงเรียนแพทย์ในภูมิภาค

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดคณบดีอาเซียน เรื่องการรวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์อาเซียน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ก.ย. 2555 นี้ มีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพื่อการก้าวสู่มาตรฐานด้านการแพทยศาสตร์ การศึกษา การวิจัย และการบริการทางการแพทย์ในระดับสากล ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้นำโรงเรียนแพทย์ชั้นนำจาก 10 ประเทศในอาเซียนมาเข้าร่วมประชุมพร้อมกัน ประกอบไปด้วย ไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม รวม 12 สถาบัน และร่วมด้วยผู้นำอีก 17 สถาบันคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย

การรวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์อาเซียนจะมีการประชุมหารือถึงระบบการศึกษาของแพทย์และระบบสุขภาพของประเทศอาเซียน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่าง 10 ประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับการศึกษาของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ฝึกหัด การวิจัยภายในภูมิภาคอาเซียน

"คณบดีโรงเรียนแพทย์อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ก็จะมีการลงนามประกาศเจตนารมณ์สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน ในวันที่ 19 กันยายน 2555 โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านแพทยศาสตร์ การวิจัยการแพทย์ และการพัฒนาการบริการสาธารณสุขของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรกว่า 600 ล้านคน ในภูมิภาคนี้ได้รับการบริการที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน"กัมพูชาเผยขาดหมอเชี่ยวชาญ

ศ.นพ.ซัมบัวแนต การ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาถือเป็นประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2537 ประเทศกัมพูชาเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการเพิ่มบุคลากรแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงขาดแคลนแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญอยู่อย่างมาก จึงถือเป็นปัญหาสำคัญด้านการสาธารณสุขภายในประเทศ

"การรวมตัวกันของโรงเรียนแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศกัมพูชา เพราะจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศมีโอกาสได้เรียนรู้วิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากประเทศที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดีกว่า เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาสามารถระบบการแพทย์และสาธารณสุขภายในประเทศให้มีมาตรฐานการรักษาที่ดีขึ้น และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วภูมิภาคอาเซียน" ลาวชูใบประกอบวิชาชีพอาเซียน

ศ.นพ.วงศ์สิน โพธิสานศักดิ์ คณบดี คณะแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า เนื่องจากประเทศลาวเป็นประเทศที่ยากจนและเป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็ก บุคลากรทางการแพทย์จึงมีจำกัด ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในประเทศ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชนบทและพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศลาวก็คือการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการรักษาของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ จึงถือเป็นข้อจำกัดด้านการแพทย์สำหรับประชาชนภายในประเทศ "การรวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์อาเซียน ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้ร่วมมือกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศที่ไม่มีความพร้อมด้านการแพทย์ สามารถยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ในประเทศของตนเองให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการออกใบประกอบวิชาชีพให้กับแพทย์นั้น เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนก็ควรมีการพูดคุยถึงการวางระบบให้ดี เพื่อป้องกันเรื่องมาตรฐาน และปัญหาการไหลเข้าไหลออกของบุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละประเทศในภูมิภาค"

ศ.พญ.อดีบา ยินตี คามารูลซามาน คณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมาลายา แห่งประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า  โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยและสิงคโปร์ ถือเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงและมาตรฐานการรักษาภายในภูมิภาคอาเซียน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาเทียบเคียงมาตรฐานทางการรักษา เพื่อเอาเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ทางการแพทย์กลับไปพัฒนาหลักสูตรการแพทย์ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันต่อไป นอกจากนี้เรื่องการวิจัยโรคติดต่อและการสนับสนุนการทำวิจัย โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ก็จะสามารถต่อยอดได้ต่อไปในอนาคตฟิลิปปินส์แนะปรับหลักสูตรร่วมฟิลิปปินส์แนะปรับหลักสูตรร่วม

ศ.นพ.อังเนส ดี เมเจีย คณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า  ในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน จะต้องมีการพูดคุยว่าจะมีการปรับเข้าหากันอย่างไร เพราะตามวัตถุประสงค์ที่สนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายแพทย์ในอาเซียน จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยและตกลงกันว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเชื่อมโยงและเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้เรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ไม่อยาก

ศ.นพ.เดาลูน โก๊ะ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่โรงพยาบาลศิริราชจัดให้มีการประชุมคณบดี คณะแพทยศาสตร์อาเซียนขึ้นในวันนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญนอกเหนือจากมาตรฐานทางการแพทย์ซึ่งประเทศสิงคโปร์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว จำเป็นต้องหารือกันเรื่องความสัมพันธ์ด้วย ทั้งในระดับแพทย์กับคนไข้ และระดับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเองเน้นความร่วมมือแลกเปลี่ยนวิจัย

นพ.ตาน  วิน  อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มันดาเลย์  ประเทศพม่า กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ช่วยกันพัฒนาการแพทย์ในประเทศพม่า ที่มีความแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ รวมถึงหลักสูตรทางการแพทย์ ซึ่งการเรียนรู้ระบบการเรียนการสอนในประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยให้สามารถนำกลับไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในประเทศพม่าได้

ศ.นพ.รัตนา ไซทอมพูล คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียมีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 74 แห่ง สิ่งสำคัญที่อยากเห็นในการประชุมคณะแพทยศาสตร์เอเชียคือมีการพูดคุยเรื่องการยกระดับ มาตรฐานโรงเรียนแพทย์  และการแลกเปลี่ยนนักวิจัย และนักเรียน เพื่อการวิจัยร่วมกัน

นอกจากเรื่องหลักสูตรการแพทย์แล้วยังอยากให้มีการพัฒนาความรู้ด้านงานวิจัย และยกระดับห้องปฏิบัติการภายในประเทศพม่าด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นของการส่งเสริมจริยธรรมและจรรยาบรรณของคณะแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงมีความยินดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และการศึกษาด้านการแพทย์ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับที่สูงกว่า

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 กันยายน  2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง