ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันนี้ ( 21 ก.ย.) ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ Migrant working group (MWG) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และคณะทำงานพัฒนารูปแบบกลไกการเข้าถึงนโยบายหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ปลดล็อคข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ทิศทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยก่อนเริ่มงานเสวนาวิชาการได้มีการนำเสนอสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ กับการประกันสังคม

นายเสถียร ทันพรหม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) นำเสนอหัวข้อเรื่องสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ กับการประกันสังคมให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟังว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร สิ้นปี 2554 พบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติและได้รับพาสปอร์ตกับใบอนุญาตทำงานแล้วห้าแสนห้าพันสองร้อยสามสิบแปดคน นำเข้าตาม MOU อีก 72,356 คน และอยู่ระหว่างผ่อนผันอนุญาตให้ทำงานเพื่อรอพิสูจน์สัญชาติอีกราวหนึ่งล้านกว่าคน ซึ่งจำนวนของแรงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานนั้นยังมีความเป็นห่วงในหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องของระบบการประกันสังคม เพราะกฏหมายประกันสังคมนี้เป็นการออกแบบการประกันสังคมในระยะยาวสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงตามข้อจำกัดของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติที่มีข้อจำกัดอยู่อาศัยได้เพียงแค่ไม่เกิน 4 ปี ในประเทศไทยและนายจ้างต้องไม่ยึดหนังสือเดินทางและบัตรประกันสังคมเพื่อให้แรงงานเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพได้จริง

ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) นำเสนออีกว่า ปัญหาของการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฏหมายประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติมี 7 กรณีดังนี้ 1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ผู้ประกันตนไม่ว่าสัญชาติใดควรเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทันที ต้องไม่มีเงื่อนไขเวลากำกับว่าต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน 2. กรณีคลอดบุตร แรงงานข้ามชาติที่มีทะเบียนสมรสจากประเทศต้นทาง และแรงงานที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา ย่อมเข้าถึงสิทธินี้ได้ 3. กรณีทุพพลภาพหากทำการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แรงงานที่เข้าไม่ถึงบริการเงินฝากหรือธนาคารจะมีวิธีในการจัดงานเงินตรงส่วนนี้ได้อย่างไรเพราะบางคนก็มาจากพื้นที่ห่างไกล 4. กรณีตาย ทายาทของแรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงเงินสงเคราะห์ได้ในรูปแบบไหนอย่างไรบ้าง เพราะหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ก็ไม่ชัด

นายเสถียร กล่าวเพิ่มเติมถึงอุปสรรคในข้อที่ 5.ในกรณีสงเคราะห์บุตรว่า แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้แค่ 4 ปี แต่บุตรมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จนถึง 6 ปี เมื่อต้องสิ้นสุดการประกันตน แรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรต่อเนื่องได้หรือไม่ ถ้าต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง 6.กรณีชราภาพ เงื่อนไขที่แรงงานจะไดบำนาญชราภาพต้องเข้า 3 องค์ประกอบคือ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี อายุขั้นต่ำ55 ปี และออกจากกงาน แต่ปัญหาของแรงงานข้ามชาติคือแรงงานทำงานได้แค่ 4 ปี ก็ต้องออกจากงานแล้วเขาจะได้รับเงินสมทบในเรื่องนี้ได้อย่างไร และข้อที่ 7.กรณีว่างงาน แรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วัน ถ้านายจ้างเลิกจ้างเพราะไมใช่ความผิดของลูกจ้าง แรงงานจะเข้าถึงบริการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือเงินทดแทนการขาดรายได้ได้อย่างไร ถ้าต้องรีบหานายจ้างใหม่โดยเร็วหรือต้องถูกส่งกลับ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอและไม่มีความชัดเจนให้แก่เขาเลย

ด้านนายเสมา สืบตระกูล ที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกกล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่พบเจอมากที่สุดและเป็นปัญหาของแรงานข้ามชาติ คือนายจ้างจำนวนมากที่ไม่ยอมนำเอกสารดำเนินการเรื่องประกันสังคมให้กับแรงงาน โดยแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมก็จะได้รับการรักษาตามยถากรรม บางคนนิ้วขาดก็ไม่ได้เข้ารับการักษาในโรงพยาบาล บางคนเป็นไข้ป่วยปางตายก็ได้รับการักษาแค่ยาพาราหนึ่งเม็ด ซ้ำร้ายนายจ้างบางคนก็ยึดพาสปอร์ตและเอกสารทำงานของแรงงานทำให้แรงงานส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งนอกจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน นายจ้างก็ต้องปรับปรุงตัวเองโดยยึดหลักของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานในตอนท้ายของการเปิดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ กับการประกันสังคม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ได้กล่าวถึงข้อเสนอที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การทบทวนอัตราเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ และแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฏหมายจะต้องได้รับความคุ้มครองตามระบบกฏหมายประกันสังคมเท่านั้น ไม่ใช่ให้ระบบประกันสังคมภัยเอกชนดูแล เพราะจะทำให้แรงงานข้ามชาติถูกขูดรีดและถูกเอาเปรียบมากขึ้น ทั้งนี่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดให้มีสายด่วนประกันสังคมและสื่อรณรงค์ทีเป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ มีล่ามและสิ่งอำนวยความสะดวกที่แรงงานข้ามชาติเข้าถึงและขอความช่วยเหลือได้จริง