ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภายใต้ข้อตกลงเออีซี ปี 2558 หรือ Asean Economy Community 2015 ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า การเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือได้อย่างเสรีใน 7 สาขาวิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และช่างสำรวจ

เป็นอีกหนึ่งในพันธสัญญาที่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มีภาระผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน

คาดหมายได้ว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือครั้งมโหฬารในระดับภูมิภาค ดังนั้น นอกจากประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ยังต้องเร่งสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนของแรงงานฝีมือไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานฝีมือชาวอาเซียน ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ด้วย

ไม่กี่วันที่ผ่านมา...คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไทยต้องเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือได้อย่างเสรีใน 7 สาขาวิชาชีพ

โดยเชิญ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยพัฒนาแรงงาน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์

ยงยุทธบอกว่า การที่ไทยมีชัยภูมิเป็นศูนย์กลาง หรือฮับในหลายๆเรื่องของอาเซียน เมื่อเริ่มบังคับใช้ข้อตกลงเออีซีในปี 2558 ให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือใน 7 สาขาได้อย่างเสรี ณ เวลานั้นเมืองไทยจะมีคนเข้า-ออกพลุกพล่านอย่างแน่นอน

เขามองว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจุดอ่อน-จุดแข็งของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกเออีซีด้วยกัน

ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ มีจุดแข็งตรงที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของประชากร สูงที่สุดในอาเซียน และติดอันดับ 15 ของโลก มีการเมืองที่มีเสถียรภาพ เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ แรงงานมีทักษะสูง ชำนาญด้านการจัด การทรัพยากรบุคคลและธุรกิจ รวมทั้งยังมีที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางเดินเรือ

ส่วนจุดอ่อนของสิงคโปร์อยู่ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและขาดแคลนแรงงานระดับล่าง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูง มีข้อน่าสังเกตสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะขยายโครงสร้างเศรษฐกิจไปยังภาคบริการมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้า

อินโดนีเซีย มีจุดแข็งตรงที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีตลาดขนาดใหญ่ ตามจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและจำนวนมาก ทั้งถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะต่างๆ และยังมีระบบธนาคารที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ตั้งประเทศลักษณะเป็นเกาะ กระจายตัว ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร โดยเฉพาะการคมนาคมและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ปัจจุบันแนวโน้มการลงทุนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย เน้นไปที่การใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก

เทียบกับ มาเลเซีย จุดแข็งอยู่ที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน มีปริมาณสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 และก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร และแรงงานมีทักษะ

จุดอ่อนของมาเลเซีย ก็คือจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย ทำให้ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะระดับล่าง แนวโน้มที่น่าสนใจ มาเลเซียตั้งเป้าไว้ว่าจะขยับตัวเองไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2563 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ฐานการผลิตและส่งออกสินค้าที่สำคัญ ยังมีความคล้ายคลึงกับไทย แต่มีนโยบายพัฒนาการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจังกว่าไทย

เทียบกับ ประเทศไทย มีจุดแข็งตรงที่เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่หลากหลายรายใหญ่ของโลก มีที่ตั้งประเทศอยู่ในตำแหน่งที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงทางคมนาคม มีสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วถึง มีระบบธนาคารที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีแรงงานจำนวนมาก

แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ เทคโนโลยีการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นเทคโนโลยีระดับกลาง โดยเราตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว

จากข้อมูลบางประเทศที่ยกมาเปรียบเทียบข้างต้น ดร.ยงยุทธมองว่า เมื่อทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนรวมตัวกันเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน ในอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยเราน่าจะอยู่ในอันดับกลางๆ ในหลายๆเรื่อง เมื่อเทียบกับอีก 9 ประเทศ ไม่ว่าในแง่จำนวนประชากร คุณภาพการศึกษาและด้านอื่นๆ

 “เรามีจุดแข็งตรงที่เป็นฮับ หรือศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงทางคมนาคม แต่ก็มีจุดอ่อน ตรงที่คนของเราส่วนใหญ่ยังติดนิสัยรักความสะดวกสบาย ขาดทักษะพื้นฐานในการใช้ภาษาอังกฤษและมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับการเปิดเออีซี”

“นอกจากนี้ กรอบคุณวุฒิของทั้ง 7 สาขาวิชาชีพที่จะเปิดเสรีในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งสมาคมและสภาวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งเจรจาและผลักดันให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดนโยบายปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผลโดยเร็วตั้งแต่บัดนี้”

ยงยุทธสรุปว่า เมื่อถึงเวลาเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว หากคนของเราไม่สามารถไหลไปยังสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ซึ่งเจริญกว่าไทย เราก็ยังสามารถไหลเข้าไปสู่เพื่อนบ้านรอบๆ อย่างลาว เขมรและพม่าได้ไม่ยากนัก

ขณะที่ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ บอกว่า เหตุผลที่ต้องมีการเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือทั้ง 7 สาขาวิชาชีพได้อย่างเสรีนั้น เป็นเพราะเมื่อเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน และภาคการผลิตแล้ว จะเกิดประโยชน์สูงสุดหรือมีประสิทธิภาพเต็มที่ ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเสรีในภาคแรงงานด้วย

แต่แรงงานมีมิติที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการเมือง เพราะทุกประเทศย่อมไม่อยากให้คนของตนถูกใครเข้ามาแย่งงานทำ

 “แม้จะมีข้อตกลงร่วมให้เปิดเสรีแรงงานฝีมือทั้ง 7 สาขาวิชาชีพ แต่เวลาที่เราจะไปทำข้อตกลงใดๆก็ตาม ควรต้องเล่นให้เป็น โดยวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกให้ดีก่อน แล้วจึงพิจารณาจากบริบทของสังคมไทย ไม่ใช่จู่ๆกระโจนไปเปิดเสรีแบบไร้เดียงสา โดยไม่มีการดูแลตลาดภายใน”

อนุสรณ์ยกตัวอย่าง แพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาลของไทย จัดว่ามีคุณภาพการผลิตอยู่ในลำดับต้นๆของอาเซียน ประกอบกับไทยมีจุดแข็งในเรื่องการให้บริการ หรือดูแลคน เราจึงสามารถแข่งขันในเรื่องนี้ได้สบาย

แต่ในมุมกลับ มีข้อน่าวิตกว่าเมื่อเปิดเสรีอาเซียนแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ของเราอาจจะสมองไหลไปอยู่ที่สิงคโปร์และมาเลเซียกันหมดก็ได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศ น่าจะมีค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่จูงใจกว่าไทย

 “ลองนึกภาพดู เรามีโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค มีระบบสาธารณสุขที่เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เราบอกว่าอยากจะเป็นฮับ หรือศูนย์ กลางด้านการดูแลสุขภาพ อยากให้คนมาใช้บริการที่เมืองไทย แต่บุคลากร การแพทย์ของเรากลับสมองไหลไปอยู่ที่อื่นหมด เท่านั้นไม่พอ เรายังตั้งเงื่อนไขกีดกันไม่ให้หมอจากเพื่อนบ้านเข้ามาอีก เช่น ตั้งเงื่อนไขว่าต้องรู้ภาษาไทยด้วย จึงจะมาประกอบวิชาชีพทางด้านแพทย์ในเมืองไทยได้ เป็นต้น”

 “อีกหน่อยก็จะกลายเป็นว่า เศรษฐีเมืองไทย หรือต่างชาติเท่านั้น ที่มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพกับแพทย์ไทยฝีมือดี คนไทยทั่วไปจะได้รับการรักษากับแพทย์พื้นฐาน ซึ่งมีคุณภาพระดับหนึ่ง”

 “ดังนั้น วิธีป้องกันปัญหา ก็คือ ทุกสภาวิชาชีพ ต้องเร่งปรับมาตรฐานวิชาชีพของเรา ทั้งในแง่ความรู้ ประสบการณ์ หรือทักษะในการทำงาน ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพของภูมิภาคอาเซียนด้วย”

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.thairath.co.th