ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงภาคภูมิ ป้องภัยแนวคิดของกระทรวงแรงงานในการจัดทำระบบประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตว่า กระทรวงแรงงานไม่ควรจะไปจัดทำร่างกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมาใหม่ สำหรับดูแลแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะ เนื่องจากจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ แต่ควรปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม เพื่อขยายระบบประกันสังคมมาตรา 40 โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบ ซึ่งจากการประเมินมี 5 กรณี ได้แก่ ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

รศ.ยงยุทธกล่าวว่า ส่วนกรณีว่างงานไม่จำเป็นต้องใช้ และกรณีการรักษาพยาบาลเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนั้นควรให้แรงงานนอกระบบยังคงได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อไป เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลแรงงานนอกระบบ ทั้งนี้ การจัดเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบเห็นว่า ไม่ควรมีอัตราที่สูงเกินไป น่าจะอยู่ที่ประมาณ 100-200 บาทต่อเดือน หากจะให้จ่ายถึงเดือนละ 550 บาท แรงงานนอกระบบคงจะไม่มีกำลังจ่าย อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ควรเน้นสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพเป็นหลัก เพราะมีข้อมูลระบุว่า แรงงานนอกระบบไม่ถึงร้อยละ 40 ที่มีเงินออม ส่วนที่เหลือกว่าร้อยละ 60 ไม่มีเงินออมเลย ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีเงินออมไว้ใช้ในยามชราภาพ โดยใช้วิธีการเดินหน้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ และระบบประกันสังคมถ้วนหน้าคู่ขนานกันไป เพื่อให้ระบบการออมเงินของแรงงานนอกระบบมีความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ในอนาคตหากเห็นว่าควรจะนำระบบเงินออมทั้งสองส่วนมารวมเข้าด้วยกัน โดยให้กระทรวงการคลัง หรือกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ดูแล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 22 ตุลาคม 2555