ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ธุรกิจโรงพยาบาลเปิดแผนลงทุนรอบใหม่รับมือแข่งเดือด-เออีซีเปิด "เกษมราษฎร์" ทุ่ม 2 พันล้าน ผุดสาขา-เพิ่มแบรนด์เจาะตลาดบน-ล่าง กว้านซื้อที่เชียงรายขยายคลินิกรับคนไข้ลาว-พม่า ด้าน "กล้วยน้ำไท" เร่งสร้างตึกใหม่-ขยายฐานลูกค้า ซุ่มหาพันธมิตรต่างประเทศเสริมแกร่ง ขณะที่ "เวชธานี-บีเอ็นเอช" ไม่น้อยหน้า ทยอยทุ่มงบฯปรับตัวสู้ศึก

ขณะนี้ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่กลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีความเคลื่อนไหวในการขยายการลงทุนและเครือข่าย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ล่าสุดโรงพยาบาลขนาดกลางรายอื่น ๆ ก็มีการขยับตัวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการลงทุนขยายธุรกิจ เพื่อปรับตัวและรับมือการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แนวโน้มโตต่อเนื่อง-แข่งขันแรง

น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฉายภาพธุรกิจโรงพยาบาลว่ามีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง หลัก ๆ มาจากการขยายตัวของฐานลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเออีซีเปิด และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการบริการทางการแพทย์ของภาคเอกชนที่มุ่งเน้นคุณภาพและการเข้าถึงง่ายขึ้น

ที่สำคัญตลาดนี้ยังมีช่องว่างและโอกาสโตอีกมาก หากดูจากประชากรคนไทยและต่างชาติที่อาศัยในไทยราว 78 ล้านคน เทียบจำนวนเตียงที่มีเพียง 14,000 เตียง

"อีก 2-3 ปีจะหมดยุคเทกโอเวอร์ จากนี้จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้าง ร.พ.ใหม่มากขึ้น ยิ่งใกล้เปิดเออีซีก็มีกองทุนต่างประเทศเข้ามามาก และคงเลือกเจรจากับ ร.พ.ที่จดทะเบียนในตลาดและมีไซซ์ใหญ่"
ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งกล่าวว่า การเปิดเออีซีจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น ร.พ.จึงต้องเร่งปรับตัวโดยเฉพาะ ร.พ.ขนาดเล็กจำต้องเตรียมความพร้อมและหาเครือข่าย เพราะไม่เช่นนั้นจะแข่งขันลำบาก

นายชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มวิภารามปรับตัวต่อเนื่องเพื่อรับมือการแข่งขัน ในแง่ขยายเครือข่ายให้ครอบคลุม ปัจจุบันมีมากกว่า 20 แห่ง ทั้งรีโนเวตและสร้างใหม่ อาทิ วิภาราม-ชัยปราการ, วิภาราม-สมุทรสาคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลประกอบการของธุรกิจโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในไตรมาสที่ 2-3 มีการเติบโตต่อเนื่องทั้งรายได้และผลกำไร

เกษมราษฎร์แตกไลน์จับทุกกลุ่ม

น.พ.เฉลิมยังระบุด้วยว่า สำหรับกลุ่ม โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เร็ว ๆ นี้ได้เปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์จากเคเอช (KH) เป็น บีซีเอช (BCH) เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของบริษัท และมีแผนจะลงทุนเพิ่มแบรนด์ในกลุ่มอีก 2-3 แบรนด์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อาทิ การขยายฐานไปสู่ตลาดระดับบนและตลาดล่าง จากเดิมที่มีแค่แบรนด์เกษมราษฎร์ จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง โดยแบรนด์บี-ซีที่เจาะตลาดกลางและล่าง มุ่งไปที่ทำเลกรุงเทพฯและปริมณฑล สำหรับแบรนด์ระดับบนคือ เดอะ เวิลด์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ (WMC) เปิดทางการในธันวาคมนี้ บนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีการขยายตัวของเมืองและที่อยู่อาศัย เป็นย่านที่การแข่งขันไม่สูง สำหรับเกษมราษฎร์นั้นวางเป็นแบรนด์ที่ดูแลลูกค้าเงินสดและประกันเอกชน ส่วนแบรนด์ใหม่ระดับล่างจะดูแลลูกค้าประกันภาครัฐ

"การเพิ่มแบรนด์หรือสาขาใหม่จะช่วยให้เติบโตเร็วขึ้น เดิมเกษมราษฎร์มี 6 สาขา โตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี คาดว่าหลังจากเปิดเดอะ เวิลด์ฯ จะโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว"

ควักอีกกว่า 2 พัน ล.ขยายสาขา

น.พ.เฉลิมกล่าวว่า สำหรับเดอะ เวิลด์ฯ ลงทุนไปประมาณ 2,700 ล้านบาท วาง โพซิชันนิ่งเป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ทุกด้านอยู่ในเซ็กเมนต์เดียวกัน ร.พ.บำรุงราษฎร์ และ ร.พ.กรุงเทพ และชูจุดแข็งในแง่ของบริการทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่มีความร่วมมือกับ พันธมิตร อาทิ โรงพยาบาลฟัน สุขุมวิท และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแนวลึกทุกสาขา ช่วงแรกจะเปิด 150 เตียง จากที่ยื่นขอไว้ 324 เตียง

หลังจากเปิดที่แจ้งวัฒนะแล้ว มีแผนจะลงทุนขยาย WMC สาขา 2 ที่พัทยา ขนาด 200 เตียง รวมถึงเปิดที่ถนนรามคำแหง ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้แบรนด์ใด คาดว่าทั้ง 2 แห่งจะใช้งบฯลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ส่วนต่างจังหวัดมีลงทุนเพิ่ม อาทิ เชียงราย รองรับการเปิดเออีซี ที่คาดว่าจะมีคนไข้จากจีนตอนใต้ ลาว พม่า เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น เป็นการลงทุนในสาขาเดิมคือ เกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ โดยซื้อที่ดินเพิ่มเป็น 26 ไร่ จากเดิม 12 ไร่ ขยายเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เพิ่มเตียงอีก 150 เตียง จากที่มี 200 เตียง

สำหรับโพลีด็อกเตอร์คลินิก ที่แม่สาย จะขยายให้ใหญ่ขึ้นและเพิ่มห้องพักผู้ป่วย รองรับการปรับเป็น ร.พ.ขนาด 30 เตียง ส่วนการลงทุนใหม่ได้ซื้อที่ดินที่เชียงแสน 5 ไร่ และอยู่ระหว่างเจรจาที่เชียงของ

กล้วยน้ำไทขึ้นตึกใหม่-คุยต่างชาติ

นายศรัณยู ชเนศร์ รองกรรมการบริหารโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ยอมรับว่า ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจเฮลท์แคร์ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งกล้วยน้ำไทได้เตรียมตัวมา 2 ปี จากนี้พร้อมรุกตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังสนใจขยายตลาดลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพเอกชน และลูกค้าจากกลุ่มซีขึ้นไปถึงกลุ่มบี ส่วนลูกค้าต่างชาติอาศัยในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่แผนการลงทุนใหม่ บริษัทได้ซื้อที่ดิน 1 ไร่ จากเดิม 5 ไร่ ใช้งบฯ กว่า 100 ล้านบาท สร้างตึกใหม่เป็นอาคาร 6 ชั้น และตึก 2 ชั้น เพิ่มเตียงและขยายพื้นที่ให้บริการบางแผนก

นอกจากนี้ยังมีแผนขยายคลินิกเครือข่ายในปี 2556 อีก 3-4 แห่ง ปัจจุบันมีอยู่ 11 แห่ง และจะนำสื่อสมัยใหม่มาใช้สร้างแบรนด์ อาทิ โซเชียลเน็ตเวิร์ก และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมจะรีแบรนด์กลุ่มกล้วยน้ำไทใหม่ในปีหน้า และตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจากับโรงพยาบาลต่างประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและรองรับการแข่งขัน ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนกลางปี 2556

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านความเคลื่อนไหวในการลงทุนของค่ายอื่น ๆ ที่ผ่านมา ร.พ.บำรุงราษฎร์เพิ่งทุ่มงบฯกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 1 เพื่อรองรับการขยายกิจการในอนาคต จากก่อนหน้านี้ได้ซื้อที่ดินย่านเพชรบุรี 6 ไร่ และจะลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 4,700 ล้านบาท สร้างสาขา 2 เป็นโรงพยาบาลขนาด 200-300 เตียง จะร่วมก่อสร้างในปี 2556 และคาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2558
ด้าน ร.พ.เวชธานีที่มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการปีละกว่า 3.5 แสนราย ก็มองโอกาสจากเออีซี ด้วยการเร่งปรับยุทธศาสตร์เพื่อสร้างจุดแข็งในการดูแลสุขภาพครบวงจร อาทิ ลงทุนด้านเทคโนโลยี นำนวัตกรรมหุ้นยนต์จัดยา เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วย ขณะที่ ร.พ.บีเอ็นเอชก็ทุ่มงบฯปรับโฉมโรงพยาบาลที่มีอายุ 114 ปี และลงทุนขยายคลินิกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังสนใจสร้างโรงพยาบาลแห่งที่ 2

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555