ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แพทย์จี้รัฐบาลเอาจริงแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนกำหนดวาระแห่งชาติแต่ขาดงบประมาณ ระบบติดตามผล ชี้รณรงค์มา10ปีอัตราการตายยังพุ่งต่อเนื่องปีละ1.3หมื่นคนส่งผลสูญเสียต่อเศรษฐกิจถึง2แสนล้านบาทต่อปี  ตะลึงกทม.รถชนเฉลี่ย3คนต่อวัน เผยมีกม.สวมหมวกกันน็อค 20ปีขยับแค่40% ขณะที่ เวียดนามออกกม.3ปี สวมหมวกกันน็อค100%

ปัญหาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบน ท้องถนน เป็นประเด็นหลักในการถกเถียงในเวทีการประชุมระดับโลก  "Safety 20 World conference" ที่นิวซีแลนด์ ในช่วงสัปดาห์ต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งในการบาดเจ็บและสูญเสียจากอุบัติเหตุทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยด้วย

ประเด็นดังกล่าว นายเอเทียนน์ ครุก (Etienne Krug) ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมป้องกันอุบัติเหตุ องค์การอนามัยโลกระบุว่า อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยทั่วโลกมีมากถึง 5 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มมากขึ้น ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้สูญเสียดังกล่าวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนถึง 8 แสนคนต่อปี และเชื่อว่าในอีก 8 ปีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะขึ้นมาเป็นอันดับ3ของการเสียชีวิตรองลงมาจากการตายจากโรคหัวใจและมะเร็ง การป้องกันการสูญเสียจากอุบัติเหตุจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ

ย้อนกลับมายังประเทศไทยพบว่าอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยังติด อันดับต้นๆในเวทีโลกแม้ว่าไทยจะตื่นตัวป้องกันความปลอดภัยทางถนนมานานกว่า 10 ปี แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้ลดลง โดยข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี2543มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน 13,008 คน ลดลงมาในปี2551 9,687 คน และเพิ่มขึ้นในปี2552 จำนวน 13,422 คน ส่วนปี2553เพิ่มขึ้นถึง13,788 คน

ปัญหาดังกล่าว นพ. วิทยา  ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด  โรงพยาบาลขอนแก่น  กล่าวว่า การทำงานในเรื่องการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุในไทยโดดเด่นในระดับพื้นที่ซึ่งมีความร่วมมือกันทุกฝ่าย นับตั้งแต่แพทย์ ตำรวจ และประชาชนทำงานเป็นเครือข่ายหลายพื้นที่มีวิธีการทำงานที่ลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างน่าชื่นชม แต่จุดอ่อนของไทยคือ การบังคับใช้กฎหมาย และ นโยบายและการกำกับติดตามจากส่วนกลางที่แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะประกาศในสภาฯให้ความปลอดภัยบนถนนเป็นนโยบายข้อ 4.5 -4.6 แต่ในทางปฏิบัติไม่มีความชัดเจนไม่มีแผนปฏิบัติ "ผมและคนทำงานในระดับพื้นที่หลายคนเห็นว่าความไม่เอาจริงเอาจังในเชิงนโยบายเป็นจุดอ่อนและเป็นอุปสรรคในการทำงานเพราะในระดับนโยบายควรกำหนดทิศทางและการปฏิบัติให้ชัดเจน เพราะไม่อย่างนั้นข้าราชการในระดับท้องที่ไม่กล้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน"

เวียดนามแซงสวมหมวก

แม้ไทยจะเริ่มมีกฎหมายสวมหมวกกันน็อคมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ปัจจุบันอัตราการสวมหมวกกันน็อคยังอยู่ที่ 40%ขณะที่เวียดนามเริ่มมีกฎหมายหมวกกันน็อคเมื่อ 3ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันอัตราการสวมหมวกกันน็อค100%

"ไทยจะมี กฎหมายสวมหมวกประเทศแรกในภูมิภาคถือว่าก้าวหน้ามากแต่ เวียดนามทำได้100 %ภายใน 3 ปี เรารณรงค์มานานกว่า 20 ปีไม่ขยับแค่40%"

ส่วนใหญ่อัตราการเกิดอุบัติเหตุ80%มาจากมอเตอร์ไซค์และเกือบทั้งหมดกว่า 90 %มีอุบัติเหตุที่ศีรษะหมด คนที่เสียชีวิตไม่สวมหมวกกันน็อคซึ่งหากมีการใส่หมวกจะลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก

ความสำเร็จของ เวียดนามได้รับการรายงานในเวทีประชุมความปลอดภัยโลกและพบว่าหลังการสวมหมวกกันน็อค 100 % ทำให้อุบัติเหตุที่ศีรษะลดลง 75% ลดอัตราการตาย 85.7%   "ผมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังจะลดปัญหาได้ รวมไปถึงการเพิ่มอุปกรณ์เข้ามาช่วยตรวจสอบเช่น กล้องซีซีทีวี เพราะในพื้นที่มีเครือข่ายที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้หากมีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีจะทำให้ไปได้มากขึ้น"

ชี้สูญเสียอุบัติเหตุ2แสนล้าน/ปี

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)  กล่าวว่า จากการศึกษา การลงทุนในมาตรการลดอุบัติเหตุจราจรที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองทศวรรษความปลอดภัย โดย ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  สนับสนุนจาก ศวปถ. พบว่าภาครัฐจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนน เฉลี่ย 15,000ล้านบาท หรือ ประมาณ0.2%ของ GDPให้กับโครงการหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ หรือคิดเฉพาะปี 2550-2553หรือ1% ของงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งหมดของประเทศ

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประมาณการในปี 2550 จำนวน 249,290,550,000 บาท หรือประมาณ2.8 %ของ GDPจะเห็นว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่ามากกว่างบประมาณที่ใช้อยู่มาก ถึง17 เท่า

"เท่าที่ผมมีข้อมูลในประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนนอย่างนิวซีแลนด์มีงบประมาณในการลงทุนเพื่อความปลอดภัยถึง 10 เท่าของไทยและอังกฤษใช้เงินมากกว่า 4% ของ งบประมาณภาครัฐทั้งหมดในการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุ" นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

รัฐขาดระบบติดตามผล

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า  ในวันครบรอบการทำงานหนึ่ง ปีของรัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติโดยประกาศนโยบายตามข้อ 4.5-4.6 แต่ในทางปฏิบัติทั้งงบประมาณและการติดตามยังไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปัญหายาเสพติด และการจัดการน้ำทั้งๆที่ความ สูญเสียทางด้านอุบัติเหตุสูงกว่า โดยเฉพาะ อัตราการเสียชีวิตมากกว่ายาเสพติด 5 เท่า ซึ่งปัญหาของอุบัติเหตุคือ แม้ว่าจะประกาศ แต่ไม่มีงบประมาณ ไม่มีการวางระบบการติดตาม โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อใช้ติดตามกำกับประเมินผล

"ผมคิดว่ารัฐบาลเปลี่ยนทัศนะ และ วิธีจากเดิม ๆ ที่คิดว่าสั่งการแล้วจะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งไม่จริง เพราะต้องขับเคลื่อนทั้งระบบ ทั้งนโยบาย , งบ , โครงสร้าง-คนทำงาน พัฒนาบุคลากร , อุปกรณ์ที่พร้อม ติดตามกำกับ รวมทั้งปรับกลไกด้านกฎหมาย"

เผยอุบัติเหตุไม่ใช่โชคชะตา

นอกจากนี้เขายังพบว่าในพื้นที่ซึ่งการทำงานประสบความสำเร็จจะทำงานบูรณาการและเอาจริงเอาจังกับแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ไม่ใช่เรื่องเฉพาะเทศกาล ปีใหม่-สงกรานต์แต่ต้องทำ ทุกวัน

"ผมคิดว่าจะทำให้ "หมวก 100%" หรือ "เมาไม่ขับ" ถ้ารอให้บังคับใช้กฎหมายโดยตำรวจ จะไม่สำเร็จ แต่ถ้าทุกหน่วยงานมีมาตรการองค์กรกับบุคลากร และ มีระบบบังคับใช้แบบเอาจริงเอาจังมาเสริมมาตรการของตำรวจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

เขาบอกว่า ต้องเปลี่ยนทัศนะของสังคม ซึ่งจากการสำรวจพบว่า1ใน4 หากมองอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องโชคชะตา ซึ่งให้ไม่มีระบบติดตามตรวจสอบถึงสาเหตุทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องส่งเสริมว่าให้มองปัญหาที่เกิดขึ้น "ทุกคนเป็นเหยื่อ ระบบที่ไม่สมบูรณ์เพื่อสร้างระบบที่คำนึงความปลอดภัย

ลดอุบัติเหตุบนถนนไม่คืบ

นพ.แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัว มูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สงสัยและหาข้อมูลอยู่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับงานด้านอื่นๆ อย่างการแก้ไขปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาเอดส์ จะมีความชัดเจนที่มาของงบประมาณมากกว่า อีกทั้งยังมีหน่วยงานหลักทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ในงานลดอุบัติเหตุทางถนนนี้เป็นเพียงแค่งานฝากที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจจราจร ทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง

นพ.แท้จริง กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักเท่านั้น แต่ทางด้านของประชาชนเองก็ขาดความตระหนักที่ดูแลหรือระมัดระวังตนเองเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการทำตามกฎวินัยจราจร ซึ่งจากการทำงานด้านรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุของตนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นจะโทษแค่รัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่หลายๆ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากพฤติกรรมประชาชนเองที่ขาดความตระหนัก

กทม.ถูกรถชน3คนต่อวัน

เขาบอกว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา แต่กลับไม่มีหน่วยงานดูแลและรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งในแต่ละปีเรามีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนประมาณ 16,000 คนต่อปี เฉพาะในส่วนของ กทม.เอง เฉลี่ยมีคนถูกรถชน 3 คนต่อวัน หรืออยู่ที่เดือนละ 90 คน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ถือเป็นจำนวนไม่น้อย รัฐบาลจึงควรมอบหมายให้มีหน่วยงานและงบประมาณที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง"

"แม้แต่สวีเดน แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเพียงแค่ 300 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าบ้านเราหลายเท่าตัวแล้ว แต่เขายังให้ความสำคัญต่องานลดอุบัติเหตุ โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงจากนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยให้เหลือเพียง 150 คนเท่านั้น "

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 ตุลาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง