ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รพ. เอกชนดันแก้ กม.ที่เป็นอุปสรรคการแข่งขันด้านการแพทย์กับประเทศเพื่อนบ้านเสนอแก้ทั้ง พ.ร.บ. สถานพยาบาล ธรรมนูญสุขภาพ และ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ "รพ.กรุงเทพ" ไทยสู้สิงคโปร์ได้ ปี 55 มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ารักษาที่ไทย 2.5 ล้านคนแล้ว

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงทิศทางอนาคตธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) ว่า บริบทของประเทศไทย หลายคนมองว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ภูมิภาค เนื่องจากมีจุดเด่นทั้งในการแข่งขันบริการรักษามีคุณภาพ มาตรฐาน ทั้งยังราคาถูก เพียงแต่เราต้องมีการเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะมีการเปิดเสรีอาเซียนที่ต้องให้บริการสุขภาพกับคนจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้มีการเตรียมจัดบริการให้ทั่วถึง รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคม รพ.เอกชนได้นำเสนอแผนการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการและแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน โดยอยู่ระหว่างการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

นพ.เฉลิมกล่าวว่า ในการจัดบริการสุขภาพของเอกชนที่ผ่านมาพบว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลกระทบต่อเอกชนในการแข่งขัน ทั้งยังกลายเป็นการแบ่งแยก รพ.ภาครัฐและเอกชน อย่างเช่น พ.ร.บ.สถานพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข มาตรา 5 ซึ่งในหลักการกำหนดให้ รพ.ทุกแห่งต้องมีมาตรฐานเท่ากัน แต่ด้วยจำนวนหมอที่ไม่เพียงพอ ทำให้ รพ.บางแห่งในต่างจังหวัดไม่มีหมอประจำอยู่ แต่หากในกรณีที่เป็นเอกชน กลับกำหนดให้ต้องมีหมอประจำ ซึ่งในประเด็นนี้ส่งผลให้ต้นทุนการบริการไม่เท่ากัน เอกชนจึงมีภาระต้นทุนสูงกว่า ซึ่งมาตรานี้อยู่ระหว่างการขอแก้ไข รวมไปถึงธรรมนูญสุขภาพ โดยขอให้ยกเลิกมาตรา 51, 106 และ 109 นอกจากนี้ยังขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์โดยขอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วขณะที่ต่างประเทศทั่วโลกไม่จำกัด ซึ่งการกำหนดนี้ส่งผลให้ต้นทุนการรักษาของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 51 ระบุว่า รัฐไม่พึงให้การสนับสนุนสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับสถานพยาบาลที่มุ่งเน้นประโยชน์ทางธุรกิจ, มาตรา 106 ที่ให้รัฐจัดระบบการเงินการคลังรวมหมู่จากแหล่งเงินซึ่งมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าทำลายสุขภาพ และ 109 รัฐพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงินการคลังสำหรับการจัดบริการสาธารณสุขให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยใช้การเงินการคลังแบบปลายปิดที่กำหนดค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า

นพ.ปราโมทย์ นิลเปรม รอง ผอ.รพ.กรุงเทพ สาขากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต้องทราบว่าผู้ป่วยโรคง่ายๆ เขาไม่มารักษา แต่ที่มาจะเป็นโรคซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ อย่างการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วยิ่งไม่อยากเดินทางมา ยกเว้นมีปัจจัยจำเป็น เรื่องนี้รัฐบาลกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.ที่ไม่เคยทำท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต้องเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศที่พยายามดำเนินนโยบายนี้ อย่างประเทศอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในระยะแรก เพราะให้บริการรูปแบบเหมาจ่าย เน้นราคาถูก แต่กลับมีปัญหาในเรื่องคุณภาพส่งผลให้มีปัญหาภายหลัง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมายังประเทศไทยกลุ่มใหญ่คือ ผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รองลงมาญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และอังกฤษ โดยในปี 2556 นี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยในสหรัฐ 1.6 ล้านคน ที่ต้องบินออกมารักษานอกประเทศ ขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยจากเกาหลีเริ่มมาที่ไทยเช่นกัน แต่เกาหลีถือเป็นประเทศที่น่ากลัวในการแข่งขัน ก่อนหน้านี้การแพทย์ด้านเสริมความงามส่วนใหญ่จะบินไปทำที่ประเทศเม็กซิโก คอสตาริกา และไทย แต่ปัจจุบันเกาหลีแซงหน้าไปแล้ว แต่การรักษาโรคซับซ้อนที่ยากกว่า ไทยสามารถให้บริการมาตร ฐานเทียบเท่ากับสหรัฐได้ แต่ราคาถูกกว่า 50% และยังได้เปรียบกว่าสิงคโปร์ เพราะสะดวกในการเดินทาง

"เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้ฉลองตัวเลขผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับการรักษา 1 ล้านครั้ง ส่วนประเทศไทย ปี 2555 มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ารักษาแล้วถึง 2.5 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่เข้ารักษาด้วยโรคออร์โธปิดิกส์ หัวใจ เสริมสวย และทำฟัน" นพ.ปราโมทย์กล่าว และว่า 3 เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตคือ การรักษาในประเทศอาจทำให้หมดตัวได้หากมีรายได้ไม่มากพอ รวมถึงปัญหารอคิวการรักษานาน ซึ่งในอังกฤษแค่ผ่าข้อเข่าต้องรอคิวนานถึง 1 ปี 6 เดือน

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า แม้ไทยจะได้เปรียบประเทศคู่แข่งในด้านต่างๆ แต่ก็มีปัญหาการเช่นกันคือ นโยบายที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ภาษาไม่ดีในการสื่อสารมีการต่อต้านจากเอ็นจีโอ ปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาล ที่แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนยังเป็นปัญหา รวมไปถึงข้อกังวลค่ารักษาคนไทยสูง เข้าถึงการรักษาได้ยาก ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหา

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 26 ตุลาคม 2555