ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในการอภิปรายเรื่อง "คุณภาพการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วย" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกประกาศ 3 ฉบับ สำหรับกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกอบด้วย 1.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องลงทะเบียนระบบเบิกจ่ายตรง 1 โรคเรื้อรัง ต่อ 1 โรงพยาบาล มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2555 2.ระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่ายมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 และ 3.ห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ว่า การบังคับให้โรงพยาบาลจ่ายยาในบัญชียาหลักฯ ให้แก้ผู้ป่วยนั้น เห็นว่ายาบางตัวไม่ได้มีคุณภาพเพียงพอต่อการรักษา อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลและยืดเยื้อ นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักภาระให้ผู้ป่วยซื้อยาจากร้านขายยาแทนการเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ซ้ำยังมีความเสี่ยงเนื่องจากร้านขายยาบางแห่งไม่มีเภสัชกรประจำร้าน และเสี่ยงต่อการขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้อาการทรุดลง

ภญ.ช้องมาศกล่าวอีกว่า การที่ผู้ป่วยซื้อยากินเองนั้น น่ากลัวมาก เพราะหากร้านขายยาไม่มีเภสัชกรแนะนำ ผู้ป่วยย่อมมีโอกาสเสี่ยงกินยาไม่ถูกต้อง ดังนั้น ควรต้องมีแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าว เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องให้ร้านขายยาเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า "ที่ผ่านมา สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรมได้เสนอโครงการนำร่องต่อ สปสช.มาโดยตลอด ในการนำเภสัชกรไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการใช้ยา โดยขอกรณีศึกษามาจากสถานีอนามัย ซึ่งจากการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการใช้ยานั้น ส่วนมากพบว่า มีปัญหาในเรื่องการพบแพทย์หลายคน ไม่ได้กินยาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีคนดูแลเรื่องยา โครงการนี้ทำมา 5 ปี แต่ สปสช.ยังไม่สนับสนุนให้เป็นโครงการถาวร ทั้งๆ ที่แต่ละปีมีการเยี่ยมผู้ป่วยเป็นพันราย ซึ่งจากการวิจัย การลงไปให้ความรู้ด้านนี้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาและการรักษาพยาบาลได้ ที่สำคัญวิธีนี้ยังให้เภสัชกรและร้านขายยาทำหน้าที่เหมือนหน่วยปฐมภูมิที่เข้าถึงประชาชนอันดับต้นๆ สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคอีกด้วย" ภญ.ช้องมาศกล่าว

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 29 ตุลาคม 2555