ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมควบคุมโรค-ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เดินหน้าโครงการ "ตรวจเลือดและรักษาทันที" เริ่มกลุ่มชายรักชาย นำร่อง 3 จว. เชื่อส่งผลให้ติดเชื้อรายใหม่เหลือศูนย์

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ภญ.สุจิดา ชุติมา ผู้ช่วย ผอ.องค์การเภสัชกรรม ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการ "Test  and  Treat" หรือ "ตรวจเลือดและรักษาทันที" ในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง จากสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย พบว่ามีแนวโน้มของผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ลดลงกว่าในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อัตราความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ พบความชุกร้อยละ 17.3 ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.3 ในปี 2553 หรือ 1 ใน 3 ซึ่งสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อ เพราะไม่เคยไปตรวจ และจากข้อมูลการเฝ้าระวังปี 2553 พบว่ามีร้อยละ 15 ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่เคยตรวจเลือดและทราบผลการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี และบางคนไปตรวจ แต่ไม่กลับมาฟังผลตรวจ จึงเป็นแหล่งสำคัญในการส่งต่อเชื้อไปให้คนอื่นๆทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ตนเองไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย

ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีเพราะหากทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเองจะทำให้รู้จักป้องกันตัวเองไม่ไห้ได้รับเชื้อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการตรวจเลือดและรักษาทันที ที่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองนี้ เป็นโครงการนำร่องจากความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมีพื้นที่ดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลำปาง และอุบลราชธานี

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะภายหลังการรับยาต้านไวรัสไปแล้ว 1 เดือน จะพบเชื้อในเลือดและสารคัดหลั่งน้อยลง และเชื้อมีโอกาสที่จะแพร่กระจายน้อยมาก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่นการตรวจเลือดจะทราบผลในวันเดียว และรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันทีในผู้มีผลเลือดบวก โดยไม่ต้องรอให้มีระดับภูมิต้านทาน (ระดับ CD4) ต่ำก่อนรักษา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลดระดับไวรัส ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการส่งต่อเชื้อไปยังคนอื่นได้น้อยลง

"การตรวจและรักษาทันทีเป็นการดำเนินโครงการตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ซึ่งถ้าดำเนินการอย่างจริงจังภายใน 10 ปี จะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย ซึ่งหลายประเทศก็ทำอยู่ ขณะที่ประเทศไทยจะทดลองในกลุ่มชายรักชาย 800 คนก่อน เพื่อหาปัจจัยว่าทำไมถึงมาตรวจรักษาจะได้นำข้อมูลนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขขยายไปยังกลุ่มอื่นๆต่อไป"

โครงการนี้ตั้งเป้ารับอาสาสมัครชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองจากกรุงเทพมหานคร 600 คน จากลำปางและอุบลราชธานี จังหวัดละ 100 คน เคยมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างน้อย 1 ครั้งใน 6 เดือนที่ผ่านมา หรือมีคู่นอนมากกว่า 3 คนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และไม่เคยตรวจเอชไอวีมาก่อน หรือเคยตรวจ แต่ไม่พบว่าติดเชื้อ ทั้งนี้ จะเริ่มรับอาสาสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2555 นี้เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย รพ.ลำปาง จ.ลำปาง ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหินและ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี หรือโทร.สายด่วนปรึกษาเอดส์แห่งชาติ 1663 และ 0-2253-0996 ทางเว็บไซต์ www.adamslove.org

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555