ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เวทีสัมมนาเรื่องชะตากรรมคนไทยหลังคุมค่าใช้จ่าย 30 บาท 3 ปี ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภาเมื่อวันที่15 พ.ย.ที่ผ่านมา วิพากษ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างออกอรรถรส

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยอมรับกลางวงอภิปรายเรื่องผลกระทบของประชาชนและหน่วยบริการ ว่า ที่ผ่านมาจำเป็นต้องอ้างว่าเตียงเต็ม เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนจากการรับรักษาคนไข้ส่งต่อ ที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่มีระบบการเบิกจ่ายที่ดีพอ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องรับภาระเอง

"เพื่อลดภาระของสปสช.และโรงพยาบาล ควรกำหนดให้ชัดว่า แต่ละปีผู้ป่วยสามารถรักษาในฐานะผู้ป่วยนอกได้กี่ครั้ง ผู้ป่วยในได้กี่ครั้ง" นพ.เฉลิม กล่าว

นพ.เฉลิม บอกอีกว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนทยอยออกจากการเป็นคู่สัญญาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และระบบประกันสังคม ซึ่งทำให้ผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับ ส่วนตัวเชื่อว่าระบบสุขภาพที่นำเงินภาษีมาจ่ายไม่มีทางอยู่รอด เพราะคนไทยมีรายได้น้อยและฐานการจ่ายภาษีต่ำ

นพ.อุปทิน รุ่งอุทัยศิริ ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ขยายความว่า ปัจจุบันงบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ที่ลงไปยังโรงพยาบาลยังไม่มีมาตรฐาน พื้นที่เมืองและพื้นที่ห่างไกลกลับได้รับงบเท่ากัน และหากจะยังแช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัวต่อไป3 ปี จะไม่เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการ

"ทั้งเงินเดือน ค่าแรง ค่าพัฒนาอุปกรณ์ และการพัฒนาการบริการ คือสิ่งที่โรงพยาบาลต้องจ่าย แต่ไม่ว่าจะรักษายังไงก็จะได้เงินเท่าเดิม ปัญหาก็ตกอยู่กับโรงพยาบาลต่อไป" นพ.อุปทิน ระบุ

ด้าน นพ.ถวัลย์ พบลาภ ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เสนอว่า ควรมีการจัดกลุ่มจังหวัด เล็กกลาง และใหญ่ แล้วจัดวางทรัพยากรให้เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ควรจัดสรรงบประมาณตามต้นทุนและผลงานของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อสร้างแรงจูงใจ

นพ.ประดิษฐ์ สมประกิจ รองคณบดีฝ่ายการคลัง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การแช่แข็งงบรายหัว3 ปี บีบบังคับให้โรงพยาบาลต้องลดค่าใช้จ่ายของตัวเอง จนในที่สุดแพทย์จะกลายเป็นพระเจ้า ที่ตัดสินว่าจะรักษาใครหรือไม่รักษาใคร ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำให้โรงพยาบาลเป็นเหมือนรถเมล์ครีมแดงที่ประชาชนจำเป็นต้องนั่งแม้จะบริการไม่ดี

สอดคล้องกับความเห็นของ วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ที่อภิปรายว่า สถานการณ์ปัจจุบันต้นทุนได้เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น รวมถึงมีค่าตอบแทนที่ระบบต้องจ่ายให้กับการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งถือเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ไม่ควรแช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัว

"ผมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองมีเหตุผลถ้าเราไม่ทำตามที่เขาสั่งมากเกินไป และกล้าเสนอแนวทางที่ควรจะเป็น (เพิ่มค่าหัว)ฝ่ายการเมืองก็คงจะรับฟัง" นักวิชาการรายนี้เชื่อเช่นนั้น

คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังสปสช. ระบุว่า หากกองทุนสุขภาพทั้ง 3 ยอมรับหลักการ "แตกต่างอย่างเป็นธรรมเหลื่อมล้ำอย่างมีนัย"ได้ ระบบสาธารณสุขก็จะเดินไปได้ ในอนาคตทุกคนจะต้องจ่ายให้กับ สปสช.หัวละ 3,000 บาท เพื่อจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ส่วนที่มากไปกว่านี้ก็จะต้องร่วมจ่ายเพิ่มขึ้นเอง

ขณะที่ผู้แทนจากสำนักงบประมาณชี้แจงว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้ควบคุมค่าใช้จ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ2557 สำนักงบประมาณจะเปิดโอกาสให้กองทุนสุขภาพเสนอแผนการของบเพื่อการลงทุนเข้ามา และจะพิจารณาให้ตามความสำคัญและความเร่งด่วน

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉายภาพสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาล สังกัดสำนักปลัด สธ. ประจำไตรมาส 3 ปี 2555 ว่า มีโรงพยาบาลรายงานเข้ามา 832 หน่วยจาก 841 หน่วย คิดเป็น 98.92% พบว่าผลประกอบการมีแนวโน้มกำไรลดลงเป็นลำดับ

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส3 ของปี 2554 ลดลงถึง 85.53% หรือจาก 5,066 ล้านบาท เหลือเพียง 733 ล้านบาทเท่านั้น และเมื่อแยกประเภทจะมีโรงพยาบาลขาดทุนถึง 496 แห่ง รวม4,505 ล้านบาท ขณะที่มี 336 โรงพยาบาลกำไร วงเงินรวม 5,238 ล้านบาท

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่องแนวทางการบริหารงบประมาณภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐตอนหนึ่งว่า จะไม่ลดคุณภาพแต่จะบริหารการลงทุนให้คุ้มค่าแทน ได้แก่ 1.แบ่งงานไม่ให้เกิดการทับซ้อนของหน่วยงาน 2.บริหารกำลังคนให้มีการจ้างงานที่ดีขึ้นและจัดระบบบริการที่ประหยัดกำลังคน เช่น การรวมศูนย์คลังยา นำระบบดิจิตอลมาใช้ในห้องแล็บ ห้องเอกซเรย์ ลดใช้คนที่ไม่จำเป็น

3.การบริการแบบธุรกิจเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นคนกลางสต๊อกและจัดส่งยาให้โรงพยาบาลในราคาถูกและเพียงพอโรงพยาบาลจะไม่ต้องนำเงินไปซื้อยาโดยตรง 4.การสร้างเพิ่มรายรับ เช่น จัดระบบบริการข้าราชการส่วนท้องถิ่น 5.การ บริหารการลงทุน การสร้างชื่อเสียงด้านศูนย์กลางทางการแพทย์ 6.การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวทั้ง 3 ระบบสุขภาพร่วมกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2555