ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สมาคมการค้ายาสูบไทยวอนกระทรวงสาธารณสุขพิจารณายุติแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบชนิดสุดโต่ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างในขณะนี้โดยร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับล่าสุดจะสร้างภาระอย่างมากให้แก่ภาคธุรกิจค้าปลีก

นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า สมาคมการค้ายาสูบไทยและสมาชิกของเรากว่า 1,300 ราย ทั้งจากกลุ่มผู้ค้าปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ค้าส่ง และผู้จัดจำหน่ายจากทั่วประเทศไทย มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อร่างกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากมีเนื้อหากว้างมากเกินไป คลุมเครือและให้อำนาจกับกระทรวงสาธารณสุขในการออกกฎระเบียบในภายหลังโดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน หรือผ่านกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองของรัฐสภา

"การบังคับให้ร้านค้าปลีกจัดส่งรายงานประจำปีให้แก่คณะกรรมการอำนวยการ การควบคุมอายุของผู้ขาย กำหนดให้ร้านค้าต้องแสดงสื่อรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ภายในร้านหรือการจำกัดการแสดงราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น จะก่อให้เกิดภาระในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายของร้านค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก" นางวราภรณ์กล่าวและว่า ร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบยังจะห้ามร้านค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเป็นพันธมิตรในการทำกิจกรรมการกุศลเพื่อสังคมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่นการให้การสนับสนุนความช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยอีกด้วย

ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยบริษัทอิปซอสส์ (ไทยแลนด์) ในนามสมาคมการค้ายาสูบไทย ชี้ให้เห็นว่าร้านค้าปลีกกว่าร้อยละ 78 เชื่อว่ามาตรการควบคุมยาสูบแบบสุดโต่งนี้จะส่งผลเสียหายให้แก่ธุรกิจร้านค้า อีกทั้ง ร้อยละ 72 ของร้านค้าปลีก คิดว่ารัฐบาลควรเน้นเรื่องการศึกษาให้มากขึ้นให้ความรู้ มากกว่าจะนำเสนอร่างกฎหมายใหม่ นอกจากนี้ ร้อยละ 50 มีความเห็นว่าการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายฉบับปัจจุบันที่มีอยู่แล้วน่าจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการลดอัตราการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ร้านค้าปลีกคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะถดถอยในปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการผ่านร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบอันมีค่าใช้จ่ายสูงที่จะส่งผลร้ายต่อธุรกิจค้าปลีก ในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถช่วยลดอัตราการบริโภคยาสูบได้เลยหรือได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น รัฐบาลควรมุ่งเน้นพัฒนามาตรการที่มีข้อพิสูจน์อย่างแท้จริงว่าสามารถช่วยลดอัตราการบริโภคยาสูบได้ อย่างเช่นการให้ความรู้หรือการบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่รัฐบาลนำเสนอจะเป็นการนำไปสู่การบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งหมายถึงการห้ามแสดงเครื่องหมายที่สื่อถึงแบรนด์ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า โลโก้ สี และกราฟิกต่างๆโดยบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบจะมีเพียงแค่ชื่อยี่ห้อซึ่งใช้ตัวอักษรแบบมาตรฐานเหมือนกันหมดทุกซอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2555