ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาว่า ที่ประชุมเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ได้หารือร่วมกันบ้างแล้ว หลายฝ่ายเห็นด้วยที่จะต้องเร่งยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย รวมถึงกรณีของกลุ่มสหวิชาชีพสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) สงขลานครินทร์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และกรณีของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ ที่ได้ขออัตราข้าราชการ โดยให้เหตุผลว่าหากบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะไม่มีคนอยากทำงาน เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย แต่หากให้เป็นข้าราชการจะจูงใจคนให้มาทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้นนั้น ทุกฝ่ายยอมรับว่าการเป็นพนักงานราชการไม่สามารถจูงใจให้คนอยากทำงานในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น คิดว่าหากมี พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา จะช่วยดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ และช่วยบรรเทาปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้นายมีชัยเองรับทราบปัญหาเป็นอย่างดี

"ส่วนที่กลุ่มสหวิชาชีพสุขภาพของ ม.อ.และ มนร.จะขอกลับไปเป็นข้าราชการนั้น การขอ กลับไปเป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยคงเป็นไปได้ยาก และเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าพิจารณาให้กับ 2 แห่งนี้ ก็คงต้องพิจารณาให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ว่าจะมีอัตราข้าราชการเพียงพอรองรับหรือไม่" นพ.กำจรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะโอนย้ายกลุ่มพนักงานในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ไปรวมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.กำจรกล่าวว่า โรงพยาบาลที่สังกัดมหาวิทยาลัย กับสังกัด สธ.มีบริบทที่ไม่เหมือนกัน โดยอาจารย์แพทย์ที่อยู่สังกัดมหาวิทยาลัย จะมีภาระงานสอน และงานวิจัย ซึ่งมีกับงบประมาณของมหาวิทยาลัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแพทย์ที่อยู่ตรงนี้จะต้องมีใจรักที่จะทำทั้งงานบริการผู้ป่วย และงานสอน แต่แพทย์สังกัด สธ.มุ่งงานบริการผู้ป่วยอย่างเดียว ดังนั้น คิดว่าการโอนย้ายไปสังกัด สธ.เป็นเรื่องยาก เพราะบริบทในการทำงานแตกต่างกันค่อนข้างมาก

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องการขอกลับเป็นข้าราชการของกลุ่มสหวิชาชีพสุขภาพ ม.อ.และ มนร.มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เพราะประการแรกมหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการเป็นของตัวเอง หากจะให้คนกลุ่มนี้กลับไปเป็นข้าราชการคงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่แค่เรื่องของ ศธ.เท่านั้น แต่เป็นเรื่องระดับนโยบาย ที่ต้องดูภาพรวมทั้งประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 ธันวาคม 2555