ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไม่อยากเป็นคนไทยโชคร้ายที่นายกปูจะให้ของขวัญด้วยการยอมให้ทริปส์พลัสในข้อตกลงการค้าเสรี กับสหภาพยุโรป หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กับ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ไทยต้องให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก (หรือ ทริปส์พลัส) ส่งผลโดยตรงให้มีการขยายสิทธิผูกขาดเชิงพาณิชย์ในยารักษาโรค  ทำให้ยามีราคาแพงขึ้นมาก บอนไซอุตสาหกรรมยาในประเทศผ่านการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) และรัฐบาลไทยกำลังนำระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเข้าไปเสี่ยง เพราะจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านยาที่จะถีบตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาล  

ไม่อยากเผชิญชะตากรรมเหมือนชาวจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาหรับที่รัฐบาลตกลงยอมรับทริปส์พลัสตามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ธันวาคม 2544  ส่งผลให้ชาวจอร์แดนต้องรับผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงยา (รายงานการวิจัยของ Oxfam สืบค้นจาก www.oxfam.org/en/policy/bp102_jordan_us_fta) ตัวอย่างเช่น

·       สัดส่วนยาที่ไม่ติดสิทธิบัตร แต่ได้รับการขยายระยะเวลาผูกขาดตลาดออกไปเนื่องจากมีการผูกขาดข้อมูลยา คิดเป็นร้อยละ 79 จากยา 103 รายการที่ขึ้นทะเบียนในตลาดยาจอร์แดน ณ ปี 2544 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยาชื่อสามัญประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดยาจอร์แดนได้ทั้งที่ยานั้นหมดอายุสิทธิบัตรแล้วเพราะติดเงื่อนไขผูกขาดข้อมูลยา

·       ไม่มีการลงทุนด้านยาเพิ่มขึ้นจากต่างชาติในจอร์แดน ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างก่อนการลงนาม  ในขณะที่อียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ยอมรับทริปส์พลัส  กลับมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยาจากต่างชาติสูงถึงร้อยละ 39

·       ราคายาในจอร์แดนสูงกว่าอียิปต์อย่างมาก  เมื่อเปรียบเทียบราคายารักษาเบาหวานและโรคหัวใจ โดยวิเคราะห์รายการยาที่มียอดขายสูงสุด 5 ลำดับแรก พบว่า ราคายาในจอร์แดนสูงกว่าอียิปต์คิดเป็นร้อยละ 167-800 หรือ 2-8 เท่าโดยประมาณ

ของขวัญที่จะแสดงถึงความจริงใจจากนายกปูต่อคนไทย คือ ระบุในกรอบการเจรจาอย่างชัดเจนว่า “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์”   

ผู้เขียน : รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น