ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จนแล้วจนรอด การเลือกรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีก 2 ตำแหน่ง ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป...

แม้ว่า...คณะกรรมการคัดเลือก ที่มี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. และรองเลขาธิการ สปสช.อีก 2 คน (อีกคน คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการ) จะทำการคัดเลือกด้วยการสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้งสิ้น 7 คนแล้ว แต่ท้ายสุดก็ยังไม่สามารถคัดเลือกได้ โดย นพ.วินัย ให้เหตุผลว่าต้องตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียดอีกครั้งว่าไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และย้ำว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์

ประเด็นนี้...เกิดคำถามว่า ทำไมจึงต้องใช้เวลาในการคัดเลือกอีก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเลื่อนวันคัดเลือกออกไปถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม เป็นวันที่ 8 มกราคม และมาลงตัววันที่ 14 มกราคม 2556 แต่แล้วก็ยังไม่สามารถคัดเลือกได้

หรือเพราะติดขัดในเรื่อง "คุณสมบัติ" หรือต้องการลดแรงต้านด้วยการยื้อเวลา...

งานนี้คนในแวดวงสาธารณสุข อย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่า ต้องถามว่าการเพิ่มรองเลขาธิการ สปสช.อีก 2 ตำแหน่ง มีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 3 คน ซึ่งก็ทำงานเช่นกัน ส่วนที่ให้เหตุผลว่า การเพิ่มตำแหน่งเพื่อรองรับกับนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ หากเป็นเช่นนั้น ยิ่งต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจในระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ซึ่งได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นอย่างดี เพราะแต่ละกองทุนมีพื้นฐานการทำงานที่แตกต่างกัน คนที่จะทำหน้าที่บริหารระบบเบิกจ่ายกลาง (Clearing house) ของกองทุนเหล่านี้ ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ ซึ่งควรเป็นคนภายในระบบ มากกว่าคนภายนอก เพราะคลุกคลีกับกองทุนสุขภาพมาตลอด

เมื่อไปถาม ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา ก็ได้ความเห็นว่า ผู้ที่จะถูกเลือกมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.นั้น ควรเป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักวิชาการ เพราะนักวิชาการอาจไม่เชี่ยวชาญในการบริหารงานขององค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเป็นนักบริหารแล้วควรเป็นแพทย์ด้วย เพราะจะเข้าใจระบบสาธารณสุข ส่วนปัญหาการคัดค้านคนภายนอกร่วมสมัครชิงตำแหน่งนั้น จริงๆ แล้วเห็นว่าองค์กรขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องเปิดกว้าง เพราะไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก หากทำงานได้ มีคุณสมบัติที่เหมาะสมก็ควรให้โอกาสเช่นกัน

มาถึงแหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข ก็บอกว่า อยากฝากกรรมการฯ พิจารณาในเรื่องความเหมาะสมอย่างถี่ถ้วน อย่างกรณี นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จ.ขอนแก่น ซึ่งมีชื่ออยู่ในผู้สมัครนั้น ก่อนหน้านี้เคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่าอาจเกี่ยวข้องกับบุคคลกระทำการให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียง แต่เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ซึ่งแม้ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่มีผลต่อภาพลักษณ์ จึงอยากให้นำเรื่องนี้มาประกอบการตัดสินใจการเลือกรองเลขาธิการ สปสช. ด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ นพ.อรรถสิทธิ์ แต่รวมถึงทุกคน

เมื่อมาเทียบดูคุณสมบัติของผู้สมัครแล้ว สำหรับ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ นั้น เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพล จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2527-2543 จากนั้น ในปี 2544 ผันตัวเองไปเล่นการเมือง เป็น ส.ส.ขอนแก่น เขต 9 พรรคไทยรักไทย และในปี 2552-2553 ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในปี 2554 ยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคอารยธรรม

ส่วน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของ สปสช. แต่ลาออก เนื่องจากเจ้าตัวอยากทำงานด้านวิชาการมากกว่า ขณะที่ นางโสภาพันธ์ สะอาดเป็นหัวหน้างานฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.นนทบุรี น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา อดีตคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน นพ.กรรชิต คุณาวุฒิ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพบริการ สปสช. และผู้อำนวยการสำนักบริหารทั่วไป สปสช. ภญ.เนตรนภิส สุชนวณิชปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการประกัน กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารสารสนเทศการประกัน สปสช. และผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุน สปสช. และ นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์

แต่สุดท้าย...จะเป็นใครที่ได้นั่งตำแหน่งรองเลขธิการ สปสช. ก็ต้องขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการตัดสิน!

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 มกราคม 2556