ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่อาจจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 ว่า แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยถูกกฎหมาย จะมีระบบดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล คือ ประกันสังคมและตรวจร่างกาย ประกันสุขภาพรายปี 1,300 ต่อคน 2.กลุ่มที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายโดยติดตามมากับแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ที่เดิมจะไม่มีหลักประกันสุขภาพ สธ.กำลังพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีว่าให้ สธ.ดูแลการรักษาพยาบาลกลุ่มนี้ด้วย โดยอาจจะออกเป็นบัตรประกันสุขภาพเช่นเดียวกับแรงงานในกลุ่มแรกแต่ปรับราคาให้ลดลง และ 3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ข้ามชายแดนเข้ามาทำงาน ขณะนี้มี 2 แนวทางเลือก คือ การขายบัตรประกันสุขภาพ หรือ การเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้ามารับการรักษา

"กลุ่มแรงงานที่ 3 น่ากังวลที่สุด เพราะอาจจะมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เออีซี หากมีมาตรการมารองรับอาจส่งผลต่อโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งปัจจุบัน สธ.ต้องใช้งบประมาณสนับสนุนการดูแลรักษาแรงงานกลุ่มนี้ราว 250 ล้านบาทต่อปี เฉพาะที่ จ.แม่ฮ่องสอน 60 ล้านบาท ขณะที่มีโรงพยาบาลสังกัด สธ.อยู่ตามแนวชายแดนทั้งสิ้น 128 แห่ง ใน 31 จังหวัด ในเร็วๆ นี้ จึงจะนำเรื่องนี้เข้าหารือต่อรัฐมนตรี สธ.เพื่อพิจารณาแนวทางเลือกที่เหมาะสมต่อไป" นพ.ณรงค์กล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 1 ก.พ. 2556 (กรอบบ่าย)--