ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยต่อปีไทยพบเด็กเกิดมาพร้อมกับความพิการประมาณ 24,000-40,000 คน และพบว่าเป็นสาเหตุใหญ่ของการตายของเด็กทารกมากถึงร้อยละ 20-30 เร่งแก้ไขป้องกัน โดยนำร่องการขึ้นทะเบียนเด็กพิการแต่กำเนิดพร้อมศึกษาวิจัยหาสาเหตุ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำมาสู่ระบบการป้องกันระดับชาติ และการดูแลรักษาฟื้นฟูที่เหมาะสม และส่งเสริมให้หญิงเริ่มฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบาย การพัฒนาสุขภาพของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 นี้เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กทั่วประเทศ พัฒนาระบบการฝากครรภ์ มีแนวทางการคัดกรองภาวะเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ตามแนวทางใหม่ขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่การฝากครรภ์ จนกระทั่งหลังคลอด และดูแลพัฒนาการเด็กจนถึงอายุ 6 ขวบ

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือปัญหาเด็กที่คลอดมาแล้วพิการแต่กำเนิด (Birth Defects) ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวจนถึงระดับประเทศที่ต้องแบกรับภาระดูแลรักษา รวมทั้งผลกระทบทางจิตใจของผู้ที่เป็นพ่อแม่ ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับความพิการประมาณร้อยละ 3-5 ของทารกมีชีพ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น โดยต่อปีไทยมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณปีละ 8 แสนคน ดังนั้น จึงประมาณการว่าจะพบเด็กแรกเกิดพิการแต่กำเนิดประมาณปีละ 24,000 – 40,000 คน ในขณะที่ทั่วโลกมีรายงานพบปีละกว่า 8 ล้านคน นอกจากนี้ยังพบว่าความพิการแต่กำเนิดนี้ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กทารกมากถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมาก

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต บูรณาการแก้ไข ร่วมมือกับสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดระดับชาติ และวางแผนการลดความเสี่ยงที่ทำให้เด็กพิการ ซึ่งมีข้อมูลวิชาการพบว่าสาเหตุครึ่งหนึ่งเกิดมาจากพันธุกรรม ที่เหลือมาจากสิ่งแวดล้อมเช่น ยาบางชนิด ขาดสารอาหาร โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ในการจัดระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลหลัก 3 หน่วยงานได้แก่สปสช. กรมบัญชีกลาง และองค์การยูนิเซฟ โดยนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 20 จังหวัดได้แก่ รพ.แพร่ รพ.น่าน รพ.อุตรดิตถ์ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.เพชรบูรณ์ รพ.นครปฐม รพ.อ่างทอง รพ.ลพบุรี รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สกลนคร รพ.หนองคาย รพ.สุรินทร์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร รพ.ระนอง และรพ.ยะลา

ทั้งนี้จะมีการจัดทำคู่มือแนวทางการวินิจฉัยความพิการแต่กำเนิดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เมื่อมีระบบการขึ้นทะเบียนรวบรวมข้อมูลความพิการแต่กำเนิด เด็กจะได้รับการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี ซึ่งร้อยละ 95 ของความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง สามารถตรวจพบได้ภายในระยะเวลา 1 ปีหลังคลอด นำไปสู่มาตรการป้องกันและดูแลรักษาฟื้นฟูความพิการแต่กำเนิดในไทยอย่างเป็นระบบ โดยให้อสม.ทั่วประเทศรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือมีความเสี่ยง หากมีความเสี่ยงต้องได้รับการช่วยเหลือและรับความรู้ตามมาตรฐานโรงเรียนพ่อแม่

จากข้อมูลโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว กรมอนามัย ในปี 2555 มีรายงานหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ ฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ร้อยละ 42 คลอดในโรงพยาบาลร้อยละ 100 ส่วนใหญ่คลอดปกติ โดยมีหญิงคลอดบุตรอายุน้อยกว่า 20 ปีร้อยละ 19 ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมร้อยละ 8 พบเด็กตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ร้อยละ 7