ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

โรคหัวใจและหลอดเลือด จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากขณะนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกคาดในปี 2551 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 17.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 25 ล้านคนในปี  2573 หรือในอีก 17 ปีข้างหน้า สำหรับไทยในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบแตก และโรคหัวใจ รวม 43,077 ราย สูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็ง ติดอันดับ 1 ใน 3 ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี และแนวโน้มสูงขึ้นอีก

ล่าสุดเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าว "ไทยเจ้าภาพจัดประชุมสมาคมโรคหัวใจแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 19 ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจัดโดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (Asian Pacific Society of Cardiology : APSC) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สหพันธ์โรคหัวใจ (World Heart Federation) สมาคมโรคหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology)  ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีความก้าวหน้าในด้านการดูแลรักษาการตรวจวินิจฉัย ป้องกัน และงานวิจัยที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค (APEC) ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดงานประชุม

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สธ.ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการดูแล ตั้งแต่การป้องกันเพื่อลดการเจ็บป่วย เช่น การตรวจสุขภาพคัดกรอง 2 โรคสำคัญที่จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้ความรู้ให้ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไม่ให้ป่วย รวมถึงการดูแลรักษากลุ่มที่ป่วยแล้วเพื่อลดผลแทรกซ้อน นอกจากนี้ ยังมีการจัดเครือข่ายบริการสุขภาพ การยกระดับมาตรฐานการรักษาโรคหัวใจฉุกเฉิน เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เร็วขึ้น ส่งผลให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันลดลงจากเดิมร้อยละ 17 ในปี  2554 เหลือไม่เกินร้อยละ 10 ในปี 2556

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วยแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์โรคหัวใจ กุมารแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์ทรวงอก แพทย์กายภาพบำบัด พยาบาล และผู้สนใจในเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม จากกลุ่มเอเชียแปซิฟิก 18 ประเทศ ประมาณ 1,000-1,500 คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยยิ่งขึ้นนับเป็นโอกาสของไทยทีเดียว...

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556