ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“โต้ง” เผยรัฐบาลเร่งเจรจาการค้าเสรีกับทุกประเทศ หลังหยุดมานาน 6-7 ปี ประเดิมเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป หรืออียู 6-7 มีนาคมนี้ยกเว้นสินค้ากลุ่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ขณะที่แกนนำกลุ่ม 28 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ก่อนเจรจาเอฟทีเอ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาล เตรียมนำข้อตกลงการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอฟ) กับประเทศต่างๆ ที่มีอยู่เดิมกลับมาหารือกันอีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักมานาน 6-7 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ประเทศคู่แข่งของไทย มีความคืบหน้าในการเจรจาเอฟทีเอฟกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ไปมากแล้ว

ส่วนของการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ให้ดำเนินการแล้ว ซึ่งรัฐบาลขอยืนยันว่า กลุ่มสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น แอลกอฮอล์ และยาสูบ จะไม่นำไปเจรจาเพื่อให้เป็นข้อเสียเปรียบ

ด้านน.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล แกนนำกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WACTH) 28 องค์กร ร้องเรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายโอฬาร ไชยประวัติ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ตามกำหนดการที่นายกฯและคณะ จะเดินไปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 6-7 มีนาคมนี้เพื่อเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย และสหภาพยุโรป

โดยแกนนำฯเรียกร้องให้นายกฯ ให้สัญญาประชาคม และมอบนโยบายจุดยืนที่ชัดเจนแก่คณะผู้เจรจา 5 ประการได้แก่ 1. ไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมาย ระบบการคุ้มครองพันธุ์พืช ที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่

2.การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุนต้องไม่มีผลให้มีการนำ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบาย หรือมาตรการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

3.ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตลอดการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร  4. ถอนสินค้าเหล้าและบุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า และ 5. จัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจารายงานความคืบหน้าพร้อมรับฟัง และดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น วันที่ 4 มีนาคม 2556