ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันนี้ "สระแก้ว" หัวเมืองชายแดนบูรพาประตูสู่ประเทศกัมพูชา กำลังแบกรับภาระสาธารณสุข เนื่องจากมีชายแดนติดต่อกับกัมพูชากว่า 165 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนถาวร และจุด ผ่อนปรนอีก 4 แห่ง นอกจากจะเป็น ช่องทางสัญจรคนชายแดน และติดต่อค้าขายแล้ว ยังเป็นช่องทางเข้าสู่ประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวทั้งถูกและผิดกฎหมาย

โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ ในแต่ละวันมีชาวไทย กัมพูชา และชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกมากถึงวันละ 10,000-13,000 คน มีทั้ง เข้ามาค้าขาย เป็นกรรมการรับจ้าง ทำธุรกิจต่าง ๆ ที่ตลาดโรงเกลือ

นอกจากนี้ยังมีอีกจำนวนหนึ่งหลุดรอดเข้ามายังอำเภอต่าง ๆ ของสระแก้ว เพื่อรับจ้างทำงานเกษตรกรรม รับใช้ตามบ้าน กรรมกรก่อสร้างและอื่น ๆ คาดว่ามีแรงงานกัมพูชาในพื้นที่ 5-6 หมื่นคน และอีกส่วนหนึ่งลักลอบผ่านนายหน้าเข้ามายังพื้นที่ตอนในของประเทศ ไปสู่จังหวัดในภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ

ทว่าข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดสระแก้วระบุว่า ปี 2550-55 มีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ปีละประมาณ 3 พันคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต่างจากความจริงอย่างสิ้นเชิง

สิ่งสำคัญในเวลานี้ก็คือ ภาระการดูแลรักษาพยาบาลประชากรเพื่อนบ้าน และแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้ง 30 แห่ง กับอีก 3 โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ตามชายแดนของจังหวัดสระแก้ว รวมทั้งผลกระทบด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคติดต่อ ภาระงานและค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล

นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 6 ซึ่งดูแลพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปราจีนบุรี และสระแก้ว) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด มีพื้นที่ติดชายแดน ส่วนจังหวัดที่ไม่ติดชายแดนก็มีแรงงานต่างด้าวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เช่น สมุทรปราการ

วันนี้พื้นที่เกษตรกรรมเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรม ทำให้มีแรงงานต่างด้าวแทรกซึมเข้ามา ประชากรในทะเบียนราษฎร์ 8 จังหวัดมี ทั้งสิ้น 5.5 ล้านคน แต่การสำรวจมี 6.5 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรแฝงอื่น ๆ อีกเป็นล้านคน ซึ่งต้องให้การรักษาทั้งคนไทยและเพื่อนบ้าน

ที่ผ่านมาต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลของเพื่อนบ้านทั้งกลุ่มที่ส่งต่อมา หรือ เดินทางมารักษา และแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก คาดว่าหลังจากเปิดเออีซีจะมีผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารักษาพยาบาลในไทยมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องจัดระบบการดูแลสุขภาพของชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าวใหม่เพื่อรองรับเออีซี เช่น ชาวต่างชาติที่เข้าไทยต้องมีระบบประกันสุขภาพ (Health Insurance) โดยจะต้องผลักดันให้เป็นประเด็นระดับชาติ

หวั่นโรคติดต่อคืนชีพเมืองไทย

นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ปี 2550-55 จังหวัดสระแก้ว ต้องรับภาระดูแลค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน และแรงงานต่างด้าว ปีละประมาณ 10 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี รวม 6 ปีเป็นเงิน 46.8 ล้านบาท ในปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขให้งบฯสนับสนุนมา 10 ล้านบาท

ในส่วนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว พบว่ามีแรงงานมาขึ้นทะเบียนตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพปีละประมาณ 1-2 พันคน (ปี 2554 มาก ที่สุด 5,447 คน) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าความเป็นจริงมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชั่วคราวภาคเกษตรกรรม มีการเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ สิ่งที่จะตามมาคือ โรคติดต่อจากกลุ่มงานข้ามชาติ การเกิดโรคระบาดในเด็ก และโรคติดต่อบาง ชนิดที่หายไปจากประเทศไทยจะกลับมา เช่น โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) โรคไข้หวัดนก โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อ EV71 เป็นต้น

"การป้องกันโรคต้องเปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุก เช่น เข้าไปร่วมดำเนินการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างกำแพงป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสู่ประเทศไทย ต้องดึงแรงงานต่างด้าวและชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในระบบประกันสุขภาพ เมื่อมีปัญหาสามารถตรวจสอบได้ แล้วยังเป็นการช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้วย อยากให้เรื่องการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวและการรักษาผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นวาระของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยกัน"

เคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ สิ่งที่จะตามมาคือ โรคติดต่อจากกลุ่มงานข้ามชาติ การเกิดโรคระบาดในเด็ก และโรคติดต่อบาง ชนิดที่หายไปจากประเทศไทยจะกลับมา เช่น โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) โรคไข้หวัดนก โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อ EV71 เป็นต้น

"การป้องกันโรคต้องเปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุก เช่น เข้าไปร่วมดำเนินการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างกำแพงป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสู่ประเทศไทย ต้องดึงแรงงานต่างด้าวและชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในระบบประกันสุขภาพ เมื่อมีปัญหาสามารถตรวจสอบได้ แล้วยังเป็นการช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้วย อยากให้เรื่องการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวและการรักษาผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นวาระของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยกัน"

หวั่นเปิดเออีซีคนไข้ทะลักไทย

นายแพทย์ราเชษฎร์ เชิงพนม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองหาด อำเภอคลองหาด ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลชายแดน ของจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า อำเภอคลองหาดมีประชากรประมาณ 3 หมื่นคน แต่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่จะมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเข้ามาอีกประมาณ 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตรเช้าไป-เย็นกลับ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยเดินทางผ่านเข้า-ออกจุดผ่อนปรนได้ง่ายด้วยการใช้ใบบอร์เดอร์พาส (Border Pass) เพียงใบเดียว ปัจจุบันเฉพาะห้องคลอด ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเป็นชาวกัมพูชา ค่ารักษาพยาบาลส่วนหนึ่งก็สามารถ เก็บได้ ไม่ฟรีทั้งหมด

สำหรับความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น โรงพยาบาลชายแดนมีความพร้อม ในระดับหนึ่ง แต่อาจต้องปรับตัวหลายด้าน เช่น ด้านสถานที่ ภาษาการสื่อสาร ภาระงานเพิ่มขึ้นของบุคลากร รวมทั้งคุณภาพการรักษาพยาบาล คาดว่า เมื่อเปิดเออีซีจะต้องส่งผลกระทบแน่ เพราะเข้ามาง่ายขึ้น ทั้งนี้เห็นด้วยหาก รัฐบาลจะมี Health Insurance แก่ ชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าวันนี้โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งในประเทศกำลังประสบปัญหา คนไข้ล้นเตียง นี่แค่เฉพาะคนไทย ขณะเดียวกันยังต้องรับภาระดูแลชาวต่างชาติ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่หวังพึ่งระบบบริการทางการแพทย์ของไทย ทำให้บุคลากรต้องรับภาระงานที่หนักอึ้ง รวมทั้งแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลมากมาย

หากรัฐบาลยังไม่ได้จัดระบบการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าว การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจได้เห็นโรคติดต่อ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คนไทยต้องต่อคิวรักษาพยาบาลเพื่อนบ้าน หรือการลดคุณภาพงานบริการลง

นับได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยและรัฐบาลต้องเร่งจัดการเชิงรุกให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว..!

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 มี.ค. 2556