ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กร้าวประกาศของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กลางเวทีประชุมการพัฒนา สธ. เมื่อวันที่12 มี.ค.ที่ผ่านมาช่วยให้หมดข้อสงสัย

"คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมตั้งขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการจะเป็นเหมือนคณะรัฐมนตรี(ครม.) ด้านสุขภาพ

ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง สธ.และกลั่นกรองเรื่องต่างๆทั้งจากหน่วยงานใน สธ. รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ก่อนเสนอสู่การพิจารณาของ ครม."

เหตุที่หมดข้อสงสัย ด้วยถ้อยแถลงดังกล่าวยืนยันถึงการมีอยู่จริงของความพยายามรวบอำนาจ "ตระกูล ส."กลับคืนสู่ฝ่ายการเมืองนพ.ประดิษฐ บอกว่า ที่ผ่านมา สธ.มีความอ่อนแอเชิงระบบ ขาดผู้กำหนดทิศทาง จึงจำเป็นต้องตั้ง คสช.ขึ้น โดยจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

"ยืนยันว่าการปรับระบบครั้งนี้ไม่ได้ล้มเลิกหรือยุบหรือรวบอำนาจของหน่วยงานใดๆ ที่ตั้งมาก่อนหน้านี้เหมือนที่หลายฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อนแต่เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ตามบทบาทของตัวเองและทำงานร่วมกับ สธ.ให้เกิดประสิทธิภาพ"

คำถาม คือ การดึงองค์กรอิสระให้เข้าไปอยู่ภายใต้ร่มการเมือง จะทำให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร

ด้วยองค์กร "ตระกูล ส." มี พ.ร.บ.จัดตั้งเป็นของตัวเอง ใช่หรือไม่ว่าขั้นตอนการแก้กฎหมายปรับเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ผ่านทางนิติบัญญัติยุ่งยากซับซ้อนใช้เวลานานสิ่งที่ทำได้ทันทีคือการตั้งคณะกรรมการด้วยมติครม.ครอบ

แม้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.จะสำทับเหตุผลว่า ที่ผ่านมา สธ.มีความอ่อนแอเป็นเหตุให้เกิดหน่วยงาน "ตระกูล ส." ขึ้นมาทำงานแทน และในวันนี้จำเป็นต้องปฏิรูป สธ.ให้เข้มแข็ง โดยต้องนำงานเหล่านั้นกลับมาทำแทน

ทว่า หากย้อนกลับไปดูหลักการตั้งต้นของหน่วยงาน "ตระกูล ส." จะพบว่าตรรกะของนพ.ณรงค์ ไม่เป็นเหตุเป็นผล

นั่นเพราะ เดิมทีหน่วยงาน "ตระกูล ส."ตั้งขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ของสธ. ที่ไม่สามารถดำเนินภารกิจให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ เนื่องด้วยมีข้อจำกัด อาทิ เงื่อนไขระบบราชการความไม่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมืองโดยแต่ละองค์กรมี พ.ร.บ.จัดตั้งเป็นการเฉพาะ

หน่วยงาน "ตระกูล ส." แต่ละปีงบประมาณมหาศาล สปสช.ได้รับจัดสรรปีละร่วม 1.5 แสนล้านบาท สพฉ.มีงบเพื่อใช้บริหารงานและจัดการกองทุนรวมปีละ 340 ล้านบาท สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้งบเฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท โดยเฉพาะ สสส.เพียงองค์กรเดียวได้รับงบประมาณ 2% จากภาษีบาป หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท

นั่นจึงมีความน่าจะเป็น หากฝ่ายการเมืองต้องการหยิบชิ้นปลามันชิ้นนี้

หากวิพากษ์บทบาทขององค์กร "ตระกูล ส."ที่ผ่านมา แม้จะไม่เป็นอิสระทั้งหมด แต่ด้วยสัดส่วนของคณะกรรมการ (บอร์ด) ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มีการ "คานอำนาจ"ของฝ่ายการเมืองด้วยภาคประชาชน ดังนั้นการขยับแต่ละก้าวเพื่อสนองตอบนโยบายทางการเมืองจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ว่ากันตามข้อเท็จจริง โดยโฟกัสไปที่ผลเลิศของฝ่ายการเมือง ชัดเจนว่า สสส.คือเป้าหมายสูงสุดที่การเมืองต้องการยึดครอง

นั่นเพราะขณะนี้ สสส.เสมือนหนึ่งเป็น"ก้างตำคอ" ของฝ่ายการเมืองอยู่ ด้วยไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สสส.เป็นแหล่งทุนใหญ่ของเครือข่ายภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอ ทั้งซีกแรงงาน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แน่นอนว่าการของบประมาณเพื่อจัดทำโครงการของบรรดาเอ็นจีโอ ส่วนใหญ่เป็นเพื่อ"ต่อต้าน"นโยบายแห่งรัฐในทุกยุคทุกสมัย

หากฝ่ายการเมืองแทรกแซงหรือยึดกุมได้หนึ่งคือเม็ดเงินอันเฟื่องฟูอีกหนึ่งคือประกันความเสี่ยงว่ารากฐานจะไม่ถูกกัดเซาะหรือนโยบายจะไม่ถูกขวางคลองจากเอ็นจีโอ

ดังนั้น สถานการณ์หลังจากนี้จึงแหลมคมยิ่งด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งสัญญาณ "เปิดศึก"มีกระแสว่า "ชมรมแพทย์ชนบท" เตรียมเคลื่อนไหวเครือข่ายภาคประชาชนนัดหารือกำหนดท่าที เหล่านักวิชาการจัดวงเสวนาวิพากษ์ เช่นเดียวกับองค์กร "ตระกูล ส." เองที่กำลังประชุมกำหนดจุดยืนภายในสัปดาห์นี้

ล่าสุด มี "สัญญาณ"ที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด เมื่อวันที่13 มี.ค.ที่ผ่านมา ชมรมแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยกพลผู้อำนวยการโรงพยาบาลและคณะแพทย์ ร่วม100 คน แต่งกายในชุดดำ บุก สธ.คัดค้านการปรับโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนใหม่

ประเด็นที่ชมรมแพทย์ชนบทยกอ้างเพื่อเคลื่อนไหวคือ การรื้อโครงสร้างการจ่ายเบี้ยทุรกันดารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์ในพื้นที่ไม่มีกำลังใจ ท้ายที่สุดจะออกจากระบบเข้าสู่โรงพยาบาลเอกชน โดยชมรมแพทย์ชนบท เชื่อว่าการปรับโครงสร้างการจ่ายเงินดังกล่าว เป็นนโยบายเอื้อต่อการเปิดเมดิคัลฮับในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ดี สัญญาณที่ถูกส่งออกมาในครั้งนี้หาใช่ประเด็นการเคลื่อนไหวที่ยกอ้างไม่สิ่งที่น่าสนใจคือ "การตบเท้าแสดงพลัง"ของชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งก่อนหน้าที่ถูกมองว่าหมดอำนาจในการต่อรองใดๆ แล้ว

ระยะเวลาเพียงข้ามคืน ในการระดมแพทย์ร่วม 100 ชีวิต สะท้อนถึงอำนาจของแพทย์ชนบทที่ยังคงอยู่

ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทการตรวจสอบข้อพิรุธ-ปมทุจริตของชมรมแพทย์ชนบท ทั้งกรณีการทุจริตยา 1,400 ล้านบาทเป็นเหตุให้ รักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สธ.ต้องติดคุก หรือกรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการไทยเข้มแข็งจน วิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.ในขณะนั้น ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

การปฏิรูปโครงสร้าง สธ. ในครั้งนี้ ไม่แตกต่างไปจากการเปิดศึกรอบด้าน และ "ชมรมแพทย์ชนบท" ก็ส่งสัญญาณลงมาคลุกในสนามรบแล้ว

อีกไม่นานอุณหภูมิของ สธ.จะระอุ อนาคตรัฐมนตรีของ นพ.ประดิษฐ จะถูกพิพากษา

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 มีนาคม 2556