ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชมรมแพทย์ชนบทได้บุกกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่13 มี.ค. คัดค้านการปรับค่าตอบแทนแพทย์ต่างจังหวัด จากเดิมให้ในรูปแบบค่าใช้จ่ายเฉพาะ มาเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นำแพทย์โรงพยาบาลชุมชนกว่า 100 คน เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข ด้วยชุดดำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ ยังแนบหนังสือขอถอนตัวจากกรรมการทุกชุดที่แต่งตั้งประธานชมรมแพทย์ชนบทและชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน หรือผู้แทนเป็นกรรมการทุกชุด หาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ยังเป็นรัฐมนตรี และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ยังเป็นปลัดกระทรวง

"การยกเลิกเงินจะทำให้หมอในต่างจังหวัดขาดแคลน ทุกวันนี้กำลังใจที่ทำให้อยู่ในพื้นที่ชนบทมาจากเงินตัวนี้ หากเปลี่ยนมาจ่ายตามภาระงานจะทำให้หมอย้าย เลิกใช้ทุน และไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจไม่มีหมอเหลืออยู่ต่างจังหวัดเลย"

นพ.เกรียงศักดิ์ อธิบายอีกว่า อัตราการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายขณะนี้  เช่น ใน 1-3 ปีแรก ในพื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ในโรงพยาบาลเล็ก จ่าย 2 หมื่นบาท4-10 ปี จ่าย 4 หมื่นบาท11-20 ปี จ่าย 5 หมื่นบาทและปีที่ 21 ขึ้นไปจ่าย 6 หมื่นบาทแต่รูปแบบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ได้ลดค่าตอบแทนลงครึ่งหนึ่ง และในวันที่ 1 เม.ย. 2557 จะยกเลิกทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ นพ.ประดิษฐ ชี้แจงว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานแทนมีเป้าหมายเพื่อลดภาระไม่จำเป็นต้องของบประมาณจากสำนักงบประมาณต่อรัฐบาลทุกปี ซึ่งจะทำให้กระทรวงมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น

ในครั้งแรก นพ.ประดิษฐ มอบหมายให้ นพ.ณรงค์เป็นผู้มาเจรจากับม็อบแทน แต่ไม่สำเร็จ เพราะกลุ่มแพทย์ชนบทยืนกรานจะมอบหนังสือให้กับ นพ.ประดิษฐ โดยตรง จนสุดท้าย นพ.เกรียงศักดิ์ ก็ตรงเข้าห้องประชุม เปิดไมค์อัดรัฐมนตรีต่อหน้าคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขซึ่งนั่งอยู่เต็มห้องประชุม

พร้อมอ่านแถลงการณ์ต่อว่า นพ.ประดิษฐ ว่า มีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ มีพฤติกรรมและท่าทีอคติต่อทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพ และมุ่งเน้นทำให้ระบบงานบริการปฐมภูมิ และโรงพยาบาลชุมชนล่มสลายพร้อมกับอยู่เบื้องหลังผลักดันบันได 4 ขั้นล้มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ตลอดจนครอบงำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมทั้งมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งอย่างชัดเจน

ขณะที่ นพ.ณรงค์ พยายามชี้แจงว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานไม่ได้ทำให้หมอในโรงพยาบาลชุมชนมีรายได้น้อยลง แต่มีโอกาสจะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นด้วยซ้ำ หากทำงานได้ตามเป้า รวมถึงตัวชี้วัดที่กำหนดให้อย่างแท้จริง ส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความกังวลว่าจะถูกยกเลิกนั้นได้มีการกำหนดให้เป็น "พื้นที่เฉพาะ" ซึ่งยืนยันว่าอัตราเงินที่ได้ จะไม่น้อยกว่าเดิมแน่นอน

ในที่สุดที่ประชุมก็เห็นชอบรับหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แม้จะมีเสียงกังวลจากตัวแทนสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ว่า เงินค่าตอบแทนใหม่ควรจะต้องทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงก่อน และควรจะมีการกำหนดเพดานว่าค่าตอบแทนตามภาระงาน ควรมีเพดานสูงสุดที่เท่าไรก็ตาม

ขณะที่ นพ.ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการฯ ว่า เสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้อยู่รับฟังแพทย์ชนบท ยืนยันจะพยายามดูแลให้แพทย์ในพื้นที่ห่างไกลทุกคนได้รับเงินที่สมศักดิ์ศรี และขอขอบคุณกลุ่มแพทย์ชนบทที่ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่ช่วยภารกิจของกระทรวง ในการทำงานรักษาคนไข้ในพื้นที่ชนบทอยู่ ทั้งที่มีโอกาสออกไปรับเงินเดือนที่มากกว่าหลายเท่าตัวในโรงพยาบาลเอกชน

"หลังจากนี้ จะมอบหมายให้ นพ.ณรงค์ ไปทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย หากพูดกันถึงเหตุและผลและชี้แจงตัวเลขอย่างตรงไปตรงมา คงไม่มีปัญหาอะไร น่าจะเข้าใจตรงกัน การประชุมในวันนี้ทั้งผมและท่านปลัด ต่างก็พยายามชี้แจงกับตัวแทนสำนักงบประมาณ เพื่อให้ปกป้องผลประโยชน์ของแพทย์ชนบทมากที่สุดแล้ว" รมว.สาธารณสุข กล่าว

สำหรับข้อกล่าวหาว่าทำหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น นพ.ประดิษฐ ชี้แจงว่า จะต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาเอง เพราะหากเอื้อผลประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชนจริง นายกฯ ก็คงต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

ขณะที่กลุ่มแพทย์ชนบทจะนัดหารือกันอีกครั้ง...ศึกกระทรวงหมอจึงยังไม่ยุติลงแค่นี้แน่ๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 มีนาคม 2556