ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อนุกมธ.สาธารณสุข เผยผลตรวจสอบโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จ.สระบุรี ชี้ผลสำรวจดินครั้งแรกก่อนสร้าง ผู้รับรอง  ไม่ใช่ "วุฒิวิศวกร" ทำให้ต้องทบทวนปรับฐานรากใหม่  ระบุ "ทีโออาร์" ทำให้ อภ.เสียเปรียบ ด้าน "หมอประเสริฐ" เป็นห่วง ไม่แน่ใจโรงงานวัคซีนเสร็จเมื่อไหร่ แนะรมว.สธ. ตั้งคณะกรรมการลงไปดูสภาพคล่อง

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านการสาธารณสุข กล่าวถึงความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มูลค่า 1,411.70 ล้านบาท ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่ง คอย จ.สระบุรี ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า กรณีดูแล้วเห็นน่าจะมือไม่ถึง ในการสำรวจดินก่อนก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในครั้งแรก ผู้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานไม่ใช่วุฒิวิศวกร อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องทบทวนการออกแบบเพื่อปรับฐานรากใหม่ นอกจากนี้ข้อความที่กำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างและทีโออาร์ อาจทำให้ อภ.เสียเปรียบคู่สัญญา อาทิ ค่า K ที่ไม่ได้สูตรคำนวณที่แน่ชัด การขยายระยะเวลาในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตวัคซีน เพื่อรอข้อมูลสำหรับการทบทวนการออกแบบ หรือ ดีไซน์รีวิว จากบริษัทคู่สัญญาต้องใช้ระยะเวลาถึง 400 วัน

ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวอีกว่า ตามที่ อภ.ได้จ้างที่ปรึกษา ควบคุมการติดตั้งเครื่องจักร ควบคุมการตรวจสอบความถูกต้องกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในราคา 50 ล้านบาท แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ไปว่าจ้างชาวต่างชาติระบุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจะขอประวัติชาวต่างชาติคนดังกล่าวมาดูว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงหรือไม่ ทั้งนี้ในวันอังคารที่ 19 มี.ค.นี้ คณะอนุกรรมาธิการจะประชุมกันและมีข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขที่มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธาน

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านการสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 1,200 ล้านบาท เหลือประมาณกว่า 200 ล้านบาท แต่งานยังไม่เสร็จ ที่ผ่านมาได้เชิญทาง อภ.มาชี้แจงแล้ว ปัญหาคือการทบทวนการออกแบบหรืองานดีไซน์ รีวิว ต้องจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาอีก 60 ล้านบาท และผู้รับเหมาขอค่าเสียเวลาเสียโอกาสระยะเวลาที่ทำต่อ 18 เดือน 38 ล้านบาท อย่างไรก็ตามได้ตรวจสอบพฤติกรรมอย่างละเอียดแล้ว ยังไม่พบว่ามีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ไม่ดี แต่การบริหารจัดการไม่เป็น

เมื่อถามว่า เครื่องจักรที่ซื้อมาหลายปีแล้วยังใช้ได้อยู่หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่เห็นเครื่องจักร ตนก็ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องจักร แต่ก็สอบถามว่าการซื้อเครื่องจักรมาเก็บไว้มันจะล้าสมัยหรือไม่ คือ อาคารดูมีครบหมด เรื่องแอร์ ระบบไฟฟ้า แต่มันผิดพลาดตั้งแต่งานออกแบบครั้งต้น ผิดพลาดตั้งแต่ฐานรากต้องเสียเงินเพิ่มประมาณ 3 ล้านบาทให้ผู้รับเหมาจากฐานแผ่เป็นเสาเข็ม ไม่เทสต์ดินให้เรียบร้อยก่อน แล้วออกแบบเป็นฐานแผ่ พอจะทำงานจริงเขียนไว้ในทีโออาร์  อีกว่า ให้ผู้รับจ้างทดสอบดินอีก ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยที่ให้คำปรึกษาบอกทำฐานแผ่ไม่ได้ให้ทำเข็มเจาะ ซึ่งทีโออาร์ที่เขียนก็เป็นทีโออาร์เดียวในประเทศที่เขียนไปแล้วผู้รับจ้างได้เปรียบ

"ยืนยันว่าที่ทำเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการ เมือง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทางกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าใจ ทั้งนี้นอกจากโรงงานวัคซีนที่ จ.สระบุรี แล้ว ยังมีโรงงานยาเอดส์ที่คลองสิบที่ล่าช้าเช่นกัน" นายสมคิด กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความล่าช้าในการสร้างโรงงานวัคซีนว่า ไม่ได้เข้าไปยุ่ง เพราะเป็นคนนอก แต่ได้ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งความล่าช้าทำให้เสียโอกาส แทนที่จะสามารถผลิตได้เอง พึ่งตัวเองได้ก็ล่าช้าไป ถ้ามีการระบาดใหญ่ขึ้นมาไม่มีวัคซีนใช้ก็เสียโอกาสมาก เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะอะไรไปยัง รมว.สาธารณสุข ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุขควรตั้งคณะกรรมการลงไปดูข้อเท็จจริงว่าล่าช้าตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร เพื่อที่จะเร่งรัด แต่ไม่ใช่เป็นการจับผิดใคร เพื่อที่โรงงานจะได้แล้วเสร็จ ต่อข้อถามว่า ยังหวังว่าโรงงานนี้จะแล้วเสร็จผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่ ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไม่รู้ ถ้าภายใน 5 ปีตนยังคงพออยู่เห็น

"ผมห่วงเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเคยมีปัญหามาแล้วในอดีตตอนนั้นในสมัย รมว.สาธารณสุขคนหนึ่งจะทำในราคาประมาณ 700 ล้านบาท เพิ่มไปเพิ่มมาเป็น 1,400 ล้านบาท พอได้เงินมาจริง ๆ ก็ทำไม่เสร็จ มีปัญหาดูไม่จืด ไม่รู้ปัญหาอยู่ตรงไหน" ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 มีนาคม 2556