ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังมีคำสั่งจากกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายา ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2557 ตามประกาศกรมบัญชีกลางเลขที่ กค.0422.2/ว.356 ได้ออกระเบียบการกำหนดจ่ายยาในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการกรณีการจ่ายยาชื่อสามัญ (Generic Name) จะมีการบวกกำไรให้สูงถึงร้อยละ 100-200 ของต้นทุนค่ายา แต่การสั่งจ่ายยาต้นแบบ (Original) จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรค่ายาได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อได้ และไม่เกินกว่าราคากลาง ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด  ทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตระหนกและหวั่นเกรงกับผลกระทบที่จะเกิดตามมาอีกมากโดย

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาณคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ค่อยถูกต้องเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายเกี่ยวข้อง และผลบังคับใช้มีระยะเวลาที่สั้นเกินไป ซึ่งหากไม่ได้พิจารณาคำสั่งดังกล่าวให้รอบคอบจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลรัฐค่อนข้างมาก และเท่าที่คุยกับเภสัชกรระดับปฏิบัติ เขาก็ยังไม่ทราบว่ากระทบแค่ไหน เข้าใจว่ารัฐไม่ได้ประกาศโดยทั่วไปแต่เป็นคำสั่งยิงตรงมาที่รพ.และในที่สุด เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชน ที่สำคัญคือ คุณภาพการรักษาที่อาจด้อยกว่า หากโรงพยาบาลรัฐไปใช้ยาทดแทน เช่นยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือบางครั้งทำให้ผู้ป่วยไปใช้บริการ  รพ.เอกชนมากขึ้นทำให้ ส่วน รพ.ต่างๆ ปกติต้องรัดเข็มขัดอยู่แล้วเพราะประสบปัญหาจากค่าเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ สถานการณ์ทางการเงินการคลังของ รพ.ก็ได้รับผลกระทบ อาจจะกระทบกับคุณภาพการให้บริการ ซึ่งท้ายที่สุดกระทบกับประชาชน

"คำสั่งนี้มาจากกรมบัญชีกลางไม่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุข ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ตรงไปตรงมากรมบัญชีกลางเท่าที่รู้จัก ผมไม่คิดว่าท่านจะทำแบบนี้มันต้องมีเบื้องหลังต้องมาดูว่าใครได้ประโยชน์หรือใครเสียประโยชน์ ทางกลุ่มคณะกรรมาธิการ ได้นัดประชุมกรรมธิการเพื่อสอบถามความเห็นให้รอบด้านจากชมรมข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นที่ร้องเรียนเข้ามา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้ประกอบการ เป็นต้นและนำมติจากที่ประชุมไปทำข้อเสนอยื่นต่อกรมบัญชีกลางและผู้จัดทำนโยบายต่อไป หากดำเนินการไม่ทัน และจำเป็นก็คงต้องฟ้องศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครรองชั่วคราวไว้ก่อน"

ทางด้าน รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าจากการที่ข้าราชการบำนาญมาร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุข เราก็ได้ทำเรื่องไปที่รัฐมนตรีขอให้ชะลอคำสั่งนี้ไปก่อน 6 เดือน เราได้เชิญคนที่เกี่ยวข้องก็คือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้แก่ คุณหมอทั้งหลาย รพ.ใหญ่ๆ รพ.เอกชน และก็คนผู้รับบริการคือประชาชน และกรมบัญชีกลางมาถาม ก็สรุปได้ความว่า  ทุกคนเข้าใจและไม่ได้ว่าอะไรถ้าจะมีการประหยัด แต่เนื่องจากระเบียบที่ออกมานี้นี่มันกระชั้นชิดมีผลวันที่ 1  มกราคม 2557 นี้แล้วรายละเอียดก็ยังไม่ได้เข้าใจกัน ที่สำคัญก็คือเนื้อหาหรือนิยามของคำว่ายาต้นแบบ originalมันคืออะไร แล้วแนวการปฏิบัตินี่ก็ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนในรพ.ใหญ่ๆ ว่าหากเป็นอย่างนี้แล้วรพ.ใหญ่ๆ อาจขาดทุนเพราะว่าปกติ รพ.ที่อยู่ได้ก็คือได้จากการขายยาที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์

"ถ้าจะปฏิบัติเลยก็มีปัญหากับทุกภาคส่วนซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยกันว่าควรจะมีการชะลอไปก่อนแล้วก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยกันว่าสิ่งที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้มันชัดเจนจะใช้เวลาสักประมาณ 6 เดือน เพราะฉะนั้นทางกรรมาธิการเมื่อรับฟังแล้วเราก็คุยกันและก็เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศโดยเฉพาะในช่วงนี้มีข่าวว่ามีวิกฤตทางการเมือง ก็น่าจะให้เรื่องนี้ชะลอไปก่อน ไม่ได้ให้ยุติเลยนะครับให้ชะลอไปและก็ตั้งกรรมการขึ้นมาดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งผมได้ไปคุยกับท่าน รมต.สาธารณสุข กับ รมต.ช่วย รวมทั้งผู้ช่วยรมต.ทุกคนเห็นด้วยให้ชะลอไป และก็บอกว่าจะรีบไปคุยกับรองนายกรัฐมนตรีกับ รมต.คลังคือคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง" 

ส่วน พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการกล่าวว่า การใช้นโยบายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่มากเนื่องจากยังไม่ได้รับการหารือจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยไม่ได้แจ้งให้ข้าราชการได้ทราบโดยทั่วกัน "ข้าราชการทั่วไปไม่ได้ทราบเรื่อง จะทราบอีกทีก็ตอนที่เปลี่ยนยาแล้วถือเป็นการลิดรอนสิทธิข้าราชการโดยตรง รัฐต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายการรักษาโรคของผู้สูงอายุ แทนที่จะส่งเสริมให้ข้าราชการผู้สูงอายุมีสวัสดิการที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโดยปกติผู้รับราชการก็ถือว่าได้รายได้จำกัดอยู่แล้ว สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังและเฝ้ารอก็เรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับตนเองและครอบครัว "คำสั่งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของข้าราชการโดยตรง ซึ่งทางชมรมได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ สาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วโดยมีมติที่ประชุมให้ชะลอการบังคับใช้อัตราเบิกจ่ายค่ายาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ทางกรมบัญชีกลางยังไม่มีคำสั่งให้ชะลอผลการบังคับใช้แต่อย่างใด"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 25 ธันวาคม 2556