ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมอชนบทระดมกำลังกว่า 5 พันบุกทำเนียบ กดดันนายกฯ ไล่หมอประดิษฐ ขู่หยุดงานประท้วงช่วงสงกรานต์ แต่จัดหมอเวรไว้ให้

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวภายหลังเรียกประชุมสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทเพื่อหารือการเคลื่อนไหว คัดค้าน ปรับค่าตอบแทนและเบี้ยเหมาจ่ายรายหัวบุคลากรสาธารณสุข (สธ.) มีแพทย์เข้าร่วมกว่า 150 คน ก่อนจะเคลื่อนพลไปยังกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ เพื่อเรียกร้องให้ร่วมคัดค้านแนวทางนี้ ว่า ได้รวบรวมรายชื่อแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร จากโรงพยาบาลชุมชนกว่า  3,000 ชื่อ เพื่อร่วมคัดค้าน การปรับค่าตอบแทนนี้ และขอให้นายกรัฐมนตรีถอด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ.ออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ

"ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปพวกเราจะรวมตัวกันสวมชุดดำประท้วง นพ.ประดิษฐ และจะพร้อมใจกันประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยจะไปรวมตัวกัน ขั้นต่ำ 3,500-5,000 คน และจะไปรวมตัวกันที่ทำเนียบทุกวันอังคาร หากนายกรัฐมนตรี ยังไม่ถอดถอน นพ.ประดิษฐ พร้อมทั้งในช่วงสงกรานต์ก็จะขอหยุดงานประท้วงด้วย ซึ่งจะหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 9-11 เมษายนนี้ เป็นเวลา 8 วันอีก แต่ไม่ต้องกังวล ถึงแม้พวกเราจะหยุด แต่จะจัดแพทย์ประจำไว้ 1 คนให้ เพราะเราก็ห่วงคนไข้เหมือนกัน" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณี สธ.โซนโรงพยาบาลชุมชนใหม่ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ชุมชนเมือง 33 แห่ง โดย 20 แห่งจะยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า การยกระดับโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมีโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ตนเป็นผู้อำนวยการนั้น เป็นเรื่องที่ทราบอยู่แล้ว การเรียกร้องครั้งนี้จึงไม่ได้เรียกร้องเพื่อตนเอง แต่เพื่อทุกคนที่ทำงานในชนบทที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนที่ปรับเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ชุมชนเมือง 13 แห่งนั้น ไม่เห็นด้วยอยู่ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลหางดง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากแม้เขตเมืองจะมีความเจริญ แต่ตัว โรงพยาบาลยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ หรือความเจริญจริงๆ ซึ่งควรแยกกัน

วันเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาพยาบาล แถลงท่าทีการเคลื่อนไหวต่อแนวทางการปรับค่าตอบแทนดังกล่าว ว่า กรณีที่บุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนนัดหยุดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนวิธีจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายพื้นที่ทุรกันดาร โดยมีการขอร้องให้หยุดงาน ด้วยวิธีการลาพักร้อนติดกับช่วงสงกรานต์ช่วงดังกล่าว ถือว่ามีการเจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุ และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้นในจำนวนมาก โดยการร้องขอดังกล่าวทำให้พยาบาลวิชาชีพจำนวนมากเกิดความลำบากใจ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้อยากลาหยุดงาน อย่างไรก็ตาม ทุกคนล้วนมีเสรีภาพส่วนบุคคลในการหยุดงาน แต่ถ้ามีเหตุผลเป็นอย่างอื่น ที่ทำให้ผู้รับบริการได้รับความลำบาก ขอให้คำนึงจริยธรรม เพราะการทอดทิ้งผู้ป่วยถือเป็นการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 มีนาคม 2556