ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ระบบการประกันสังคมของไทยก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง คณะกรรมการบริหารแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) มีมติให้รวมกองทุนออมแห่งชาติเข้ากับกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ระบบการออมชราภาพเป็นเอกภาพ โดยให้แรงงานนอกระบบผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 มีสิทธิจ่ายเงินเดือนละ 100 บาท รัฐบาลสมทบ 100 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ

ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน 38.7 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบที่เป็นข้าราชการ และลูกจ้างเอกชน 14.6 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีหลักประกันตนเอง เช่น ได้รับความคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ แต่มีแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 24.1 ล้านคน เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ไม่มีหลักประกัน ไม่มีบำเหน็จบำนาญ

ถึงแม้รัฐธรรมนูญมาตรา 53 จะบัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” แต่ในภาคปฏิบัติ รัฐบาลสามารถจ่ายเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุได้เพียงรายละ 600 ถึง 1,000 บาท ซึ่งไม่พอยังชีพ

รัฐบาลจึงต้องขยายการประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ขาดหลักประกันตน และได้เริ่มขึ้นตามนโยบาย “ประชาวิวัฒน์” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แรงงานนอกระบบผู้ประกันตน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 โดยรัฐบาลออกเงินสมทบด้วย จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต รวม 3 รายการ

เนื่องจากการประกันตนให้ทำด้วยความสมัครใจ กฎหมายไม่ได้บังคับให้แรงงานนอกระบบทุกคนต้องทำ เหมือนกับแรงงานในระบบ จึงมีแรงงานนอกระบบประกันตนไม่มากเท่าที่ควร เช่น ทางเลือกที่ 1 ได้สิทธิประโยชน์เพียง 3 อย่าง ดังที่กล่าวแล้ว รัฐบาลจึงต้องเพิ่มแรงจูงใจ ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน รวมทั้งสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ

เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว มีสัดส่วนของผู้ สูงอายุในสังคมเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมีคนแก่ที่ไม่สามารถพึ่งตัวเองเพิ่มขึ้น รัฐบาลคงจะแบกรับภาระไม่ไหวในอนาคต อย่างมากก็จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละไม่เกินพัน บาท ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจทำให้ผู้สูงอายุเป็นคนจนโดยถ้วนหน้า การประกันตนจึงถูกต้องที่สุด

แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะต้องไม่มองข้ามเสียงเรียกร้องของตัวแทนลูกจ้าง ให้ปฏิรูประบบการบริหารการประกันสังคมใหม่ ให้เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรม-การผู้ชำนาญการลงทุนเฉพาะ มีคณะกรรม-การตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และให้ตัวแทนลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารการประกันสังคมที่แท้จริง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 30 มีนาคม 2556