ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 21-22 เมษายน เพื่อร่วมงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 ว่าผู้เฒ่าหรือผู้สูงอายุที่เกิดและเติบโตจนกระทั่งแก่เฒ่าอยู่ในพื้นที่สูง ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต เพราะได้อาศัยในที่อากาศดี ได้กินอาหารที่มาจากธรรมชาติจริงๆ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่ง พชภ.ได้ทำงานวิจัยร่วมกับอาสาสมัครจากประเทศญี่ปุ่น เรื่อง ความสุขในชีวิตของผู้เฒ่าบนพื้นที่สูงเหล่านี้ คือ อะไร พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่าความสุขคือ การมีลูกหลานที่เชื่อฟัง ไม่โกหก สุจริต มีพืชพันธุ์อาหารที่สมบูรณ์ สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดี คนในหมู่บ้านสามัคคีกัน เห็นได้ว่าไม่มีเรื่องของความต้องการในวัตถุเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นตัวอย่างของความเป็นอยู่แบบพอเพียง

นางเตือนใจกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ซึ่งมีประมาณ 344 คน ส่วนใหญ่มีสุขภาพดี ไม่ค่อยมีใครเจ็บป่วยเป็นโรคเหมือนที่คนสูงอายุในเมืองเป็น เช่น บางคนอายุ 92 ปี ยังเดินไปตักน้ำในแม่น้ำมาใส่ตุ่มในบ้านได้ แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์ทรมานจากสังขารที่ร่วงโรย เช่น ตาฝ้าฟางมองไม่เห็น หรือเจ็บป่วยจากโรคชรา ปัญหาคือ เมื่อป่วยจะไม่สามารถไปหาหมอรักษาในโรงพยาบาลตามระบบบริการสุขภาพสาธารณสุขได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชน จึงอยากเสนอให้รัฐบาลหันมาดูแลสุขภาพคนสูงอายุที่ไร้สัญชาติกลุ่มนี้ด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 เมษายน 2556