ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คนรักหลักประกันสุขภาพร้องกมธ.ธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบดีเอสไอ และรมว.สธ. ข้ามขั้นตอนชงดีเอสไอเอาผิดทุจริตยาพารา ชี้เพื่อความเป็นธรรมกับองค์การเภสัช

วันนี้ (2 พ.ค.) ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นจดหมายถึงประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบระบบการทำงานและผลการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อการกล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อความเป็นธรรม

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าองค์การเภสัชกรรมในการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านการผลิต และจัดหายาจำเป็นเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุลผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้มีส่วนสำคัญในการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดหายาให้กับสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ จากที่ต้องจ่ายทั้งหมด 6,617 ล้านบาท กลับลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 4,080 ล้านบาท ซึ่งสามารถประหยัดได้ถึง 2,536 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพัฒนาและผลิตยาจำเป็น, จัดหาเครื่องมือแพทย์ในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลและสายสวนหัวใจ, จัดหายากำพร้าที่ธุรกิจเอกชนไม่ยอมผลิตเพราะไม่ทำกำไรมากเพียงพอ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้, ช่วยสำรองยาในภาวะวิกฤต ดังเช่น กรณีการระบาดของไข้หวัดนก หรือการสำรองยาในช่วงมหาอุทกภัย, เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติตามการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing:CL) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาจำเป็น และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ด้านยาได้

“การสอบสอนครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการกระบวนการกล่าวหาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเลขานุการ และการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งพบว่าไม่ได้มีการสอบสวนตามกระบวนการปกติ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล แต่กลับมีการปล่อยข่าวเป็นระยะราวกับจงใจที่จะทำให้สาธารณชนหมดความไว้วางใจกับคุณภาพยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งอาจจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศและทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานขององค์การเภสัชกรรมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาจำเป็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มากขึ้น ประหยัดงบประมาณด้านยาได้หลายพันล้านบาทต่อปี แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลดังกล่าว อาจจะขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ  ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการ หรือ บอร์ดองค์การเภสัชกรรม ถูกตรวจสอบโดยมิชอบหรือใช้หน่วยงานรัฐในการทำลายการมีอยู่ขององค์การเภสัชกรรมเพื่อเปิดทางให้กับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแสวงหากำไรจากงบประมาณของแผ่นดิน เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การยกเลิกคณะอนุกรรมการต่อรองราคายาก่อนหน้านี้

“เราต้องช่วยกันจับตา และปกป้องระบบยาของประเทศ ไม่ให้กลไกลการเมืองมากลั่นแกล้งคนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม  และไม่ยอมเปิดทางให้ธุรกิจยา  มาหาประโยชน์กับความเจ็บป่วยของประชาชนได้” นายอภิวัฒน์ กล่าว

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเน้นในส่วนของธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขและกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยคณะอนุกรรมาธิการจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ทั้งนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้