ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวนการสอบสวนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาสอบสวนความผิด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

รุ่งขึ้นวันที่ 17 พ.ค. ที่ประชุมบอร์ด อภ.มีมติปลด นพ.วิทิต พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ฐานบกพร่องทำให้ อภ.เกิดความเสียหายจากการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล การก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก

นพ.วิทิต ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งได้ออกสมุดปกขาวทำความเข้าใจต่อสาธารณะว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส แต่การสอบสวนในเรื่องนี้รวบรัดเร่งรีบ ตั้งธงจะปลดผู้อำนวยการ อภ.มาตั้งแต่ต้น

ผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.หลังจากนี้จะชี้มูลความผิดหรือไม่ อย่างไรต้องรอติดตาม แต่สำหรับประวัติของคุณหมอวิทิตประจักษ์ด้วยผลงานและเป็นที่ยอมรับในวงการสาธารณสุข

คุณหมอวิทิต เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง รองรับประชาชนกว่าแสนคน เป็นโรงพยาบาลต้นแบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่คิดค่าธรรมเนียมรักษาครั้งละ 40 บาท กระทั่งพรรคไทยรักไทยนำมาเป็นโมเดลนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

ในฐานะองค์การมหาชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลพร้อมมิตร ซึ่งเป็นเอกชนที่ประสบภาวะขาดทุน จนสามารถทำกำไรและประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนนี้ยังเข้าร่วมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดต้อกระจกผู้สูงอายุทั่วประเทศ จากที่เข้าคิวอยู่ถึง 2 แสนราย ก็ได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้น รวมถึงการให้บริการเปลี่ยนเข่าเสื่อมแก่ผู้ป่วยให้ได้รับบริการรวดเร็วมากขึ้น

เมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการอภ. คุณหมอวิทิตก็เพิ่มยอดขายยาของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ จาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาเพียง 3 ปีเศษ

สามารถลดราคายาลงได้ 10-20% ทำให้ยาที่ขายไปยังโรงพยาบาลรัฐเข้าถึงประชาชนมากขึ้น นั่นเท่ากับสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐลงได้จำนวนมาก

เมื่อประเทศไทยได้เริ่มดำเนินนโยบายการบังคับใช้ตามสิทธิบัตรยาหรือการทำซีแอล อภ.ในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไรสามารถผลิตยาสามัญมีคุณภาพและราคาถูกให้บริการประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ฯลฯ

ดังนั้น คดีที่คุณหมอกำลังเผชิญ เกิดเป็นคำถามชวนให้สงสัยว่า ผู้บงการอยู่เบื้องหลังขาดธรรมาภิบาลและไร้ศีลธรรมในการดำเนินการหรือไม่

รัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน ต้องตอบให้กระจ่าง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2556