ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างเกิดขึ้นหลังคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.ออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่17 พ.ค.ที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลเรื่องการบริหารงานของหมอวิทิต2 ข้อ ได้แก่ 1.การจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล 148 ตัน จากประเทศจีน ช่วงอุทกภัยปี2554 มีการปนเปื้อนไม่ได้มาตรฐาน และ 2.การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล่าช้า

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2555 หลัง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) รับตำแหน่ง จะพบว่ามีความพยายามปลด นพ.วิทิต อยู่แล้ว หากแต่ยังไม่สำเร็จเนื่องจากนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานบอร์ดขณะนั้น ไม่เอาด้วย และตัดสินใจลาออก เนื่องจากไม่สามารถทำได้ฝ่ายการเมืองจึงหันไปเลือก นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทางเครือญาติกับ นพ.ประดิษฐ ขึ้นเป็นประธานบอร์ด อภ.แทน

เมื่อนพ.พิพัฒน์ ขึ้นมาเป็นประธานบอร์ดได้ 3 เดือน เก้าอี้ของ นพ.วิทิต ก็เริ่มร้อนฉ่าเพราะมีข่าวรายวันตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึงปัญหาวัตถุดิบยาพาราเซตามอลไม่ได้มาตรฐาน จนสธ.ยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สอบสวนเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่าดีเอสไอมีความเป็นกลางมากกว่าที่จะตั้งกรรมการสอบภายใน สธ.

กระทั่งวันที่ 1 พ.ค. ดีเอสไอก็ชี้มูลความผิดนพ.วิทิต ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยชิ่งไปโดน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. ไปด้วย โดยกระบวนการสอบสวนของดีเอสไอพบว่า นพ.วิชัย ทราบขั้นตอนการทำงานของ นพ.วิทิต เป็นอย่างดีแต่ไม่ได้ห้ามปราม หลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 16 พ.ค. ดีเอสไอก็เปิดผลสอบเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล่าช้าทันทีโดยระบุว่ามีการฮั้วประมูลเช่นกัน ทั้งที่ นพ.วิทิต เพิ่งส่งข้อมูลให้ดีเอสไอสอบสวนในช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ค.เท่านั้น

วันรุ่งขึ้น บอร์ด อภ. ก็ตัดสินใจเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต โดยผู้รับผิดชอบในการสอบเรื่องร้อน และแถลงข่าวสาเหตุในการปลด คือ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล และ นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นประธานสอบสวนกรณีความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีน

น่าสังเกตก็ตรงที่ทั้ง นพ.นิพนธ์ และ นพ.สมชัย เหลืออายุราชการอีกเพียง 5 เดือนฝ่ายการเมืองจึงเลือกทั้งสองเป็นประธานสอบข้อเท็จจริง เพราะอายุราชการเหลือน้อย ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองต่อไปและไม่ต้องมีแผลในการแต่งตั้งโยกย้ายรอบต่อไปอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ผลสอบของทั้งสองเรื่องก็ถูกตั้งคำถามในหลายแง่มุม โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สธ. ก็โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งของกระทรวงสาธารณสุขก็มีความล่าช้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากรายละเอียดการก่อสร้างมีความซับซ้อน แต่สุดท้ายไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบ และปลัด อธิบดี ก็ยังอยู่สุขสบาย

ขณะที่การจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลเป็นการสำรองยาในช่วงเกิดภัยพิบัติตามนโยบายของ สธ. ขณะเดียวกันการประชุมร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ ก็เห็นต้องกันว่าควรมีวัตถุดิบและยาจำเป็นพื้นฐานสำรองแม้โรงงานผลิตจะยังก่อสร้างไม่เสร็จก็ตาม อภ.จึงต้องมีวัตถุดิบสำรองไว้เสมอ เนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจริงจะหาผู้ผลิตได้ลำบาก

กระนั้นเอง นพ.วิชัย และกลุ่มแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุสำคัญที่ฝ่ายการเมืองเลือกเลิกสัญญาจ้างในที่สุด เกิดจากการที่ นพ.วิทิตไม่ยอมสิโรราบด้วยการส่งเงินส่วนลดค่าซื้อยาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรได้75 ล้านบาทให้กับ สธ. และไม่ยอมส่งคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลให้กับบริษัทต้นทาง

ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่ปลดหมอวิทิตที่ถูกระบุโดยบอร์ด อภ. เป็นเพียงข้ออ้าง เนื่องจากไม่ใช่คนของตัวหรือไม่ เพราะ นพ.วิทิต มีที่มาจากนพ.วิชัย อดีตประธานบอร์ด อภ. พี่ใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบท เห็นความสามารถในการปลุกปั้นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จึงชักชวนให้มาเป็นผู้อำนวยการในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ผลงานของ นพ.วิทิต ยังโดดเด่นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีส่วนร่วมสนับสนุนการเปิดสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) รวมถึงการจัดระบบยาใหม่ จนทำให้ยารักษาโรคเรื้อรังหลายขนาน ไม่ว่าจะโรคเอดส์ โรคมะเร็ง หรือโรคไต ถูกลงกว่าเท่าตัว ขณะเดียวกันกำไรของอภ.ก็พุ่งขึ้นจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท

เพิ่งจะมีปัญหาในยุคที่มีเสียงลือหนาหูว่า ผู้บริหารอย่าง นพ.ประดิษฐ มีความสนิทสนมกับโรงพยาบาลเอกชนและบริษัทยาข้ามชาติและนโยบายหลายอย่างทั้งเมดิคัลฮับ และการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าคิดขึ้นเพื่อเอื้อต่อภาคเอกชน

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ อภ.ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบกับยอดขายของ อภ.อย่างหนักหน่วงโดยยาหลายตัวถูกเลิกสั่งซื้อเนื่องจากปัญหาในอภ. และกลายเป็นเพิ่มกำไรให้กับบริษัทเอกชนไปโดยปริยาย

สะท้อนชัดว่า หลังจากนี้ นพ.ประดิษฐ คงจะเล่นบทโหด เชือดคนที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งมากขึ้น โดย นพ.วิทิต เป็นเหยื่อของนพ.ประดิษฐที่ต้องการเชือดให้ผู้บริหารใน สธ.ดูว่า หากไม่ปฏิบัติตามโอวาทเป็นอย่างไร

แน่นอน นี่คือการสุมไฟเพิ่มเชื้อความขัดแย้งจากกลุ่มแพทย์ชนบทให้เปิดหน้าชกกันโดยตรง เพิ่มจากปัญหา P4P และความพยายามรวบอำนาจองค์กรอิสระตระกูล ส. ส่วนใครที่ไม่ยอมทำตามก็เสี่ยงที่จะโดนแบบ นพ.วิทิต

เหตุการณ์หลังจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าหมอและข้าราชการใน สธ.ที่เคยแข็งแกร่ง ไม่ยอมอำนาจจากฝ่ายการเมืองมาตลอด จะลุกขึ้นสู้ หรือจะยอมฟังคำสั่ง รักษาเก้าอี้ด้วยการให้อำนาจจากฝ่ายการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันต่อไปจนล่มสลายในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556