ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง "กรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สั่งซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอลมาสำรอง และกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิต ยาล่าช้า" โดยมี นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานนั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ทำหนังสือที่ สธ 0601.04 /0054 ลงวันที่ 10 พ.ค.2556 รายงานการตรวจสอบต่อประธานบอร์ด อภ.มีความเห็นและข้อสังเกตดังนี้

1. การจัดซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอล โดยใช้ข้อบังคับ อภ.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2524 ข้อ 16 (6) เป็นพัสดุที่จำเป็นต้องซื้อจากผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายโดยตรง โดยอ้างข้อมูลจากการคัดเลือกแหล่งผลิตจาก 2 บริษัท ซึ่งโดยข้อเท็จจริงมีผู้แทนจำหน่ายวัตถุดิบพาราเซตามอลหลายบริษัทมากกว่าที่ระบุ แต่เลือกใช้วิธีพิเศษ โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 4 ราย (ขอสงวนชื่อ)

2. ความไม่เหมาะสมในการตัดสินใจสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล ทั้ง ๆ ที่ไม่มีแผนการผลิตและที่ เก็บ รวมถึงยังมีวัตถุดิบพารา เซตามอลสำรองอยู่ 40 ตัน จึงเป็นเหตุให้ อภ.ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบพาราเซตามอลดัง กล่าว และในกรณีที่ไม่สามารถคืนวัตถุดิบพาราเซตามอลให้กับ หจก.พ.(ขอสงวนชื่อจริง) ได้ อภ.จะบริหารจัดการกับวัตถุดิบดังกล่าวอย่างไร หากนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายอาจกระทบภาพลักษณ์ขององค์กร หรือถ้าเลือกวิธีทำลายก็จะทำให้เสียหายต่อทรัพย์สินของ อภ.โดยมีผู้เกี่ยวข้อง/รับผิดชอบ 1 ราย (ขอสงวนชื่อ)

3. โรงงานแมส โปรดักซ์ชั่น (Mass Production) ในการขออนุมัติจัดจ้างก่อสร้างได้ใช้วิธีพิเศษเนื่องจากต้องการความเร่งด่วนในการผลิตยาพาราเซตามอล โดยมีข้อสังเกตดังนี้

3.1 ตามบันทึกคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ฉบับลงวันที่  23 ก.ย.2553 ตั้งราคากลาง ไว้ที่ 70,926,192.86 บาท ประกอบด้วยโครงการแมส โปรดักซ์ชั่น ได้แก่ งานปรับปรุงอาคารตอก เคลือบและบรรจุยาเม็ด แบบเลขที่ ฝผ.8-1/53 และงานปรับปรุงอาคารพิกุลเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพยา แบบเลขที่ ฝผ.8-2/53 แต่ในการจัดจ้างมีการดำเนินการโดยวิธีพิเศษ 2 ครั้ง ครั้งแรกบริษัท ว. (ขอสงวนชื่อจริง) เสนอราคาสูงกว่าราคากลาง จึงมีการยกเลิกและต่อมา มีการแยกงานแมส โปรดักซ์ชั่น และงานจ้างปรับปรุงอาคารพิกุลออกจากกันเป็น 2 โครงการ ซึ่งการจัดจ้างโครงการแมส โปรดักซ์ชั่น โดยวิธีพิเศษ ครั้งที่ 2 ได้บริษัท ว. ในวงเงิน 45.8 ล้านบาท ตามสัญญาเลขที่ 344/54 ลงวันที่ 7 ม.ค.2554 ซึ่งต้องมีการหาหลักฐาน การขออนุมัติหรือผู้อนุมัติให้แยกงานจัดจ้างออกเป็น 2 สัญญา เนื่องจากการแยกเป็น 2 สัญญานั้นทำให้อำนาจในการอนุมัติจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเปลี่ยนไป จากเดิมทั้งโครงการเป็นอำนาจของบอร์ด อภ. แต่ถ้ามีการแยกเป็น 2 สัญญา แต่ละสัญญาจะเป็นอำนาจของประธานบอร์ด อภ. ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง โดยมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง

3.2 การดำเนินการก่อสร้าง มีขั้นตอนการปรับแบบก่อสร้างหลายครั้ง

3.2.1 สัญญาจ้างเลขที่ 344/54 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 12 ส.ค.2554 และได้มีการอนุมัติให้ต่อสัญญาได้เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2554 เป็นระยะเวลา 100 วัน (สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2554 ) และมีการเพิ่มวงเงินจำนวน 2.98 ล้านบาท โดยประธานบอร์ด อภ. แต่มีการต่อสัญญา จนกระทั่งเลยกำหนดเวลาตามสัญญาคือวันที่ 12 ส.ค.2554 และมาทำการต่อสัญญาเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2555

3.3.2 ต่อมามีการต่อสัญญาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2555 เป็นระยะเวลา 515 วัน (นับจากวันที่ 20 พ.ย.2554) ซึ่งพบว่าการต่อสัญญาครั้งแรกยังไม่มีการดำเนินการจึงทำการต่อสัญญาครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2555 ดังกล่าว ย้อนหลังเป็นระยะเวลา 100 วัน (สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2554 )

ดังนั้นการขยายระยะเวลาทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว เป็นการขยายสัญญาเมื่อระยะเวลาตามสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้เกิดความล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในการบริหารสัญญาเดิมประมาณ 2 ปี ซึ่งทำให้ อภ. เสียโอกาสทางธุรกิจและสมควรมีการสงวนสิทธิ์ปรับตามสัญญาต่อไป โดยมีคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้เกี่ยวข้อง/รับผิดชอบ 7 ราย (ขอสงวนชื่อ)

4. ความล่าช้าของการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนแบบ แต่ทั้งนี้ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกเพื่อให้โรงงานได้รับมาตรฐานจีเอ็มพีองค์การอนามัยโลก (WHO-GMP) จึงทำให้ อภ.ปรับแบบซึ่งเป็นเหตุทำให้ล่าช้า และบอร์ด อภ.ได้จัดให้มีวาระการรายงานในที่ประชุมบอร์ด อภ.เป็นประจำ

สำหรับประเด็นเรื่องเครื่อง HVAC (ระบบปรับอากาศสำหรับห้อง Clean room) พบว่า ในการตรวจสอบมีเครื่องที่มีฮีทเตอร์ (Heater) และเครื่องที่ไม่มีการติดตั้งฮีทเตอร์ และพบว่าเครื่องที่มีการติดตั้งฮีทเตอร์สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา แต่ห้องที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นได้พบว่า เป็นห้องที่เครื่อง HVAC ไม่มีการติดตั้งฮีทเตอร์ ซึ่งในเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหาข้อสรุปของผู้รับจ้าง ที่ปรึกษา และคณะกรรมการตรวจการจ้างในประเด็นความรับผิดชอบและวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่ง อภ.อยู่ระหว่างดำเนินการหาข้อสรุปและทางออกในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามล่าสุดกรณีโรงงานผลิตยารังสิตนั้น ทาง อภ. ได้บอกเลิกสัญญา มีการกำหนดทีโออาร์ใหม่เพื่อประมูลงานส่วนที่เหลือให้เสร็จโดยเร็ว

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า สำหรับเรื่องความเสียหายนั้น อภ.คงจะมีการเรียกร้องให้มีการชดใช้ต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นวัตถุดิบพาราเซตามอลชัดเจน เพราะ อภ.ไม่มีแผนการผลิตยาพาราเซตามอล แพ็กเกจจิ้งก็ไม่มี ไม่มีอะไรรองรับเลย เนื่องจาก อภ.จ้างโรงงานเภสัชกรรมทหาร (รภท.) และบริษัทยาเอกชนผลิตอยู่ จึงมีคำถามว่า วัตถุดิบพาราเซตามอล 100 ตันสั่งมาทำไม

ส่วนกรณีที่มีเอกสารกองจัดซื้อและสำรองวัตถุดิบ เรื่อง ขออนุมัติเลื่อนกำหนดส่ง Paracetamol 90% DC ลงวันที่ 18 พ.ย.2554 ระบุว่า ตามที่ท่านได้อนุมัติซื้อ Paracetamol 90% DC 100,000 kg ตาม PR 310379 ลงวันที่ 01/11/11 นั้น เนื่องจากขณะนี้มีการเร่งรัดการผลิตยาน้ำท่วม จึงยังไม่สามารถกำหนดแผนผลิต Paracetamol Tablet ได้ ประกอบกับขณะนี้ยังมี Paracetamol 90% DC คงคลังอยู่จำนวน 40,000 Kg และพื้นที่คลังวัตถุดิบมีไม่เพียงพอที่จะรองรับได้ในขณะนี้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติเลื่อนกำหนดส่งจากเดิมภายในกลางเดือน ธ.ค.2554 เป็นภายในวันที่ 3 ก.พ.2555 นั้น นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากไม่มีแผนการผลิตและไม่มีที่เก็บแต่เมื่อจะสั่งทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงทำหนังสือระบุว่าไม่มีที่เก็บ จนต้องเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก 3 เดือน วัตถุดิบจึงค้างเติ่งอยู่เหมือนทุกวันนี้ เท่านั้นยังไม่พอโรงงานที่จะผลิตก็ยังไม่เสร็จ เพิ่งเริ่มต้นปรับปรุง ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเสร็จ ถ้าจะเอาเครื่องจักรที่ผลิตยาตัวอื่นอยู่มาผลิตยาพารา เซตามอลก็ไม่ได้เพราะยาพาราเซตามอลไม่ได้อยู่ในแผนการผลิต ยาที่ผลิตอยู่ก็ผลิตไม่ทันส่งมอบอยู่แล้ว ดังนั้นยาตัวนี้จึงไม่สามารถเข้าสู่แผนการผลิตได้เลย

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มิถุนายน 2556