ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะทำงานเคลียร์'พีฟอร์พี'ตั้ง กก. 2 ชุดย่อยวางเกณฑ์จ่ายเยียวยา-แหล่งที่มาเงิน-วางแนวประเมินผล      

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายคณิศ แสงสุพรรณ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมคณะทำงานฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากชมรมแพทย์ชนบท โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประชุม นายคณิศให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 3 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานชุดย่อยชดเชย เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ มี พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) นครศรีธรรมราช เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องจำนวนเงินที่จะใช้แหล่งที่มาของเงิน และระเบียบการเบิกจ่ายจะเป็นอย่างไร ส่วนแนวทางการชดเชยเยียวยามีความชัดเจนแล้ว คือ นำจำนวนเงินที่เคยได้ตามระเบียบเดิม แล้วหักลบด้วยจำนวนเงินที่ได้รับตามระเบียบการเบิกจ่ายใหม่ตามผลการปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) หากใครได้รับเงินน้อยกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญก็จะได้รับการเยียวยาชดเชย

2.คณะทำงานชุดย่อย กำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล (เคพีไอ) ของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นประธาน และ 3.คณะทำงานชุดย่อยกลุ่มผู้ปฏิบัติงานอื่นที่ต้องปรับ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.เป็นประธาน

"พีฟอร์พีจะเดินหน้าพร้อมกันทั้งหมดภายในเดือนตุลาคม 2556 เป็นระบบใหม่ที่ทุกคนจะเดินไปพร้อมกัน โดยคณะทำงานชุดย่อยมีเวลาดำเนินการเพียง 2 เดือนให้แล้วเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด จึงมีการนัดคณะทำงานชุดนี้ประชุมร่วมสอบถามความคืบหน้าร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 21 มิถุนายนนี้" นายคณิศกล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการเยียวยาว่า จะดำเนินการทันทีหรือไม่ หรือต้องรอจนถึงเมื่อใด ทั้งที่เริ่มนโยบายตั้งแต่วันที่ 1 รอจนถึงเมื่อใด ทั้งที่เริ่มนโยบายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 หากไม่ชัดเจนก็จะเกิดปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าว กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลชุมชนได้เสนอ 2 เรื่อง คือ 1.หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา โดยแนวทางการเยียวยาต่อผู้ถูกรอนสิทธิจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงิน ค่าตอบแทน ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 แต่การดำเนินการตามมติดังกล่าวจะต้องอิงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินของโรงพยาบาลชุมชนฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 โดยเอามาบวกลบตามผลกระทบที่ได้รับ

2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนนั้น ให้เป็นไปตามฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับที่นำเนื้อหาจากฉบับ 4 และ 6 มาปรับปรุง โดยหลักเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้ โรงพยาบาลชุมชนได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 221 แห่ง จากโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 738 แห่ง ซึ่งการปรับพื้นที่ใหม่ครั้งนี้จะยังช่วยลดงบประมาณ หรือเงินที่ต้องจ่ายให้บุคลากรลงไปร้อยละ 30 หรือประมาณ 500 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 1,500 ล้านบาท

"ยกตัวอย่าง รพ.บางบัวทอง มีการปรับพื้นที่ใหม่ให้เป็นพื้นที่เจริญขึ้น จากเดิมแพทย์ได้รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท เหลือ 30,000 บาท เป็นต้น ข้อเสนอเหล่านี้โรงพยาบาลชุมชนรับได้ แต่ในเรื่องของการทำพีฟอร์พีนั้น ต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง แต่โดยหลักต้องยึดบริบทของแต่ละพื้นที่ และต้องทำด้วยความสมัครใจ" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าไม่ควรใช้คำว่าพีฟอร์พี หรือ Pay for Performance แต่ควรเปลี่ยนเป็นพีคิวโอ (PQO) หรือ Pay for Quality and Outcome ซึ่งเป็นการจ่ายตามคุณภาพผลงาน และควรทำในรูปแบบทีมงาน ไม่ใช่ตัวบุคคล โดยข้อสรุปจากครั้งนี้จะนำเข้าที่ประชุมบุคลากรโรงพยาบาลชุมชนในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมเซนทารา และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ส่วนจะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ก็ต้องรอผลการประชุมในวันดังกล่าวก่อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการร่วมรับประทานอาหารกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการร่วมรับประทานอาหารกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้รับประทานอาหาร เป็นเพียงการหารือกันที่ สธ. ถึงทิศทางการปรับปรุงนโยบายค่าตอบแทน และปัญหาพีฟอร์พี ซึ่ง นพ.ประดิษฐแวะไปทักทาย แต่ส่วนใหญ่หารือกับนายคณิศ

ขณะที่ นพ.ประดิษฐกล่าวภายหลังหารือทำความเข้าใจกับกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่สำนักงานปลัด สธ.ว่า เป็นเพียงการทำความเข้าใจในเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ อภ.หากมีข้อสงสัยในกระบวนการสอบสวนคณะกรรมการจะชี้แจงในรายละเอียด นอกจากนี้ ได้ขอให้สหภาพเข้ามาทำงานเพื่อทำให้องค์กรเคลื่อนต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวถูกปรับออกจากรัฐมนตรี นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ตั้งใจเข้ามา ทำงาน หากนายกรัฐมนตรีต้องการปรับเปลี่ยนก็ต้องทำตามผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ลำบากใจ เพราะไม่ได้คาดหวัง เพียงแต่รู้สึกผิดหวังว่างานที่ตั้งใจไว้ทำไปได้ช้ากว่าที่ควร เพราะต้องวนแก้ปัญหาเดิมๆ

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 20 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--