ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชำแหละ 30 บาทรักษาทุกโรค "อัมมาร" ชี้พรรคการเมืองได้คะแนนแล้วละเลยคุณภาพ หมอเหนื่อยแต่รัฐบาลได้เครดิต แนะดูแลระดับปฐมภูมิ "หมอวินัย" ระบุอนาคตไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ควรมีการจัดการค่าใช้จ่ายในรูปเงินออมสะสม

ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2556 ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวบนเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "คิดใหม่ระบบหลักประกันสุข ภาพของไทย" ว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่ดี ซึ่งพรรคการเมืองนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง แต่เมื่อได้คะแนนเสียงแล้ว ตนคิดว่ามีการละเลยเรื่องคุณภาพพอสม ควร จนกลับกลายเป็นนโยบายสงเคราะห์ที่หมอไม่ได้เครดิต แต่รัฐบาลกลับได้เครดิต ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเห็นในอนาคตคือเป็นโครงการที่เน้นคุณภาพการให้บริการ แพทย์มีเวลาให้กับคนไข้มากขึ้น และอยากให้เน้นการดูแลระดับปฐมภูมิ ซึ่งตรงนี้จะช่วยคุมค่าใช้จ่ายจากการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่ๆ ได้เป็นอย่างดี

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ควรคิดใหม่คือสิทธิการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน อย่าไปคิดว่าเป็นการสงเคราะห์ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับผิดชอบ แต่ควรอยู่ในระบบที่รัฐสามารถดูแลได้

"ในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น กลไกการใช้เงินภาษีมาดูแลอย่างเดียวน่าจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นเห็นว่าควรมีระบบ ควรมีการจัดการค่าใช้จ่ายของตัวเอง โดยทำในรูปแบบของเงินออมสะสมไว้ใช้ในวัยสูงอายุ" เลขาฯ สปสช.ระบุ

นพ.วินัยยังกล่าวว่า ควรมีการแชร์กอง ทุนค่ารักษาพยาบาลในระดับประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของกองทุนย่อย เช่น กองทุนค่ารักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงออกแบบให้เป็นการดูแลระดับปฐมภูมิก่อนการส่งต่อ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูล นิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ 30 บาทไม่ใช่การทำระบบสุขภาพให้รัฐบาลเอาภาษีมาจ่ายเท่าที่มีปัญญา แต่ต้องออกแบบระบบงบประมาณ ระบบบริการให้เชื่อมโยงกัน การออกแบบที่ดีคือการที่รัฐมีกลไกกำกับดูแลระบบบริการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ โดยการสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยระดับปฐมภูมิให้เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายศูนย์ส่งต่อที่ยอมรับกติกาด้านการเงินร่วมกันแล้ว ที่สำคัญคือควรมีศูนย์กลางคอยดูแลเรื่องการส่งต่อซึ่งมีการสร้างเครือข่าย อย่าปล่อยให้ต่างคนต่างทำ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดการผูกขาดการส่งต่อกับโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง

"ระบบอย่างนี้ การส่งต่อมีทั้งโรงพยา บาลรัฐและเอกชน สธ.ไม่ใช่คนผูกขาด แต่ สธ.ต้องเข้ามาแลระบบให้ดี ให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดูแลในระดับปฐมภูมิอยากให้มีทีมสุขภาพที่คนไข้สามารถปรึกษาหมอได้ทุกเวลา" นพ.สมศักดิ์กล่าว

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ถ้าจะสร้างระบบบริการที่ได้คุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตนเห็นว่ายังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายและบุคลากรอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การร่วมจ่ายไม่ใช่ทางออกที่มีนัยสำคัญในการแก้ปัญหาการเงินของระบบ อีกทั้งตนยังเห็นว่าการจัดเก็บภาษีเฉพาะ เช่น ภาษีสุขภาพ เพิ่มเป็นภาษีต่างหาก โดยเฉพาะถ้าเพิ่มจำนวนการเก็บเป็นรายเดือนมักจะมีต้นทุนในการเก็บสูง และไม่มีประสิทธิภาพมากไปกว่าการเพิ่มภาษีเงินได้แล้วเก็บตามช่องทางเดิม

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2556