ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ในฐานะประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-2551) แถลงข่าว "ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ประเทศไทยควรเข้าร่วมหรือไม่" ว่า กรณีนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เชิญชวนให้ประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี เป็นเรื่องที่น่ากังวล และรัฐบาลควรทบทวนก่อนตัดสินใจลงนาม

"หากไทยลงนามจะเป็นการเดินซ้ำรอยข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) หรือ อาฟต้า ซึ่งหมายถึงภาษีนำเข้าเป็น 0% เช่น บุหรี่นำเข้าในระบบอาฟต้า มีข้อมูลว่า ภายใน 3 ปีที่ไทยเข้าร่วมอาฟต้า มีบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศสูงถึงร้อยละ 3 และปัจจุบันบุหรี่ต่างประเทศก็ครองตลาดในร้านสะดวกซื้อมากกว่าร้อยละ 50 สะท้อนว่า นโยบายการเปิดการค้าเสรีดังกล่าวมีเพียงพอแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงว่าทีพีพี อาจทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และองค์กรสุขภาพของไทยไม่มีบทบาทควบคุมการบริโภคทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาบางชนิด ได้ตามกฎหมายไทยที่พึงจะเป็น โดยเฉพาะการควบคุมลักษณะผลิตภัณฑ์ แต่ทำได้แค่ระบบภาษีเท่านั้นด้วย และหากมีการเจรจาให้ราคาถูกลง จะมีผลเสียต่อสุขภาพของคนไทย" นพ.หทัยกล่าว

ด้าน ศ.เบน แมคเกรดี ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มว่าด้วยการค้าการลงทุนและสุขภาพ สถาบันโอนีลเพื่อกฎหมายสุขภาพแห่งชาติและโลก มหาวิทยาลัยจอร์ช ทาวน์ สหรัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยควรคำนึงถึงสุขภาพของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง เพราะหากลงนามในข้อตกลงทีพีพี ทุนจากต่างชาติจะเข้ามาควบคุมกลไกการตลาดในประเทศ โดยที่ประเทศสมาชิกไม่มีสิทธิออกกฎระเบียบใดๆ ในประเทศเหนือเงื่อนไขของทีพีพีทั้งสิ้น

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 5 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--