ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus   -ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเทศของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่..) พ.ศ.... ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีสาระคำคัญคือการเพิ่มทางเลือกที่ 3 แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของระบบประกันสังคม นั่นคือให้ออมเงิน 100 บาท/เดือน รัฐจ่ายสมทบอีก 100 บาท/เดือน แล้วรับเป็นบำนาญชราภาพเมื่อเกษียณอายุ

ดูผิวเผินอาจไม่ต่างอะไรจากหลักการของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งมีรูปแบบเดียวกัน คือเปิดให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิก จ่ายออมเงินทุกเดือนแล้วรับเป็นเงินบำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปี

เป็นเหตุผลที่รัฐบาลพยายามอธิบายโดยง่ายว่า "มันก็เหมือนๆกัน" และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังมีแนวคิดเสนอยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนเงินออมแห่งชาติ 2554 ต่อรัฐสภา เพราะเห็นว่าการเพิ่มทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 เป็นวิธีการที่ดีกว่า

ทว่าหากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ยังมีข้อแตกต่างกันอีกหลายประการ

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เปรียบเทียบ ในเชิงข้อกฎหมายระหว่าง กอช. และประกันสังคมมาตรา 40 หลักๆมีดังนี้

1.รูปแบบการบริหาร กอช.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง มีคณะกรรมการ กอช.ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง, กรรมการที่ได้รับเลือกจากสมาชิก 6 คน ผู้รับบำนาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนมีคณะอนุกรรมการลงทุน

แต่ ประกันสังคมมาตรา 40 บริหารโดยสำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีฐานะเป็นหน่วยราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการบริหารมาตรา 40 และคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือแรงงานนอกระบบไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร

2.วัตถุประสงค์ กอช.จัดตั้งเพื่อการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพแก่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 วรรค 4 เพื่อเป็นช่องทางโอกาสแก่ประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงา น สร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต และเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชน

ขณะที่ ประกันสังคมมาตรา 40 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทน 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, ตาย, สงเคราะห์บุตร และเพิ่มทางเลือกที่ 3 สำหรับบำนาญชราภาพ

3.การสมัครสมาชิก กอช.กำหนดให้สมัครสมาชิกเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับแต่วันที่กฎหมายประกาศในราชกิจานุเบกษา โดยให้ดำเนินการเลือกกรรมการกอช.ที่เป็นสมาชิกและผู้รับบำนาญ คำนึงถึงการกระจายตัวทุกภูมิภาค ความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ภายใน 360 วันนับแต่วันสมัครสมาชิกมีผลบังคับใช้ ส่วนประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และ 2 เป็นสมาชิกได้ตั้งแต่ 1 พ.ค.2554 ขณะที่ทางเลือกที่ 3 รอปรับปรุง พ.ร.ฎ.ให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้

4.เลขาธิการกองทุน ในส่วนของกอช.ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการ และรองเลขาธิการด้านลงทุนโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี เลขาธิการมีคุณสมบัติ เช่น สามารถทำงานเต็มเวลา, ไม่เคยถูกปลดออก ไล่ออกเพราะเหตุทุจริตหน้าที่, ไม่มีส่วนได้เสียในกิจการหรือสัญญากับกองทุนฯ การดำรงตำแหน่ง เงื่อนไขการทำงานเป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการกำหนด มีสัญญาจ้างคราวละไม่เกิน 4 ปี ต่อได้ไม่เกิน 4 ปี

แต่สำหรับประกันสังคม มีเลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง โดยกระทรวงแรงงานเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ไม่มีคุณสมบัติ เงื่อนไขการทำงาน ไม่มีวาระดำรงตำแหน่งที่ชัดเจนและมักต้องออกจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุหรือถูกโยกย้ายโดยมติครม.

5.เงินสมทบจากแรงงานและรัฐบาล กอช.สะสมเงินออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้ง รวมกันไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี แต่ไม่ต้องสะสมเท่ากันทุกเดือนหรือเดือนไหนไม่สะสมรัฐก็จะไม่จ่ายสมทบ และหากได้งานเป็นลูกจ้างเอกชนหรือข้าราชการยังคงเป็นสมาชิกกอช. มีสิทธิส่งเงินสะสมได้ แต่รัฐไม่สมทบจนกว่าจะกลับมาเป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนประกันสังคมมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 200 บาทต่อคนต่อเดือน (สมทบจากผู้ประกันตน 100 บาท และจากรัฐบาลอีก 100 บาท)

6.ประโยชน์ทดแทนที่ได้รับ กอช.จ่ายบำนาญรายเดือนๆละเท่าๆกันตลอดชีพตั้งแต่อายุ 60 ปี หากออมน้อยจะได้รับเงินดำรงชีพจนกว่าเงินในบัญชีจะหมด หากจำนวนเงินในบัญชีรายบุคคลของสมาชิกผู้นั้นหมดลง กอช.จะใช้เงินกองกลางจ่ายบำนาญแก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

นอกจากนี้ หากสมาชิกลาออกหรือถอนเงินออกก่อนอายุ 60 ปี เงินที่ได้รับเฉพาะเงินสะสมของตน+ดอกผลเงินสะสมเท่านั้นแต่ไม่ได้เงินสมทบจากรัฐ และรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนกอช.ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยของธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง

ขณะที่ ประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จะได้เงินบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี และแจ้งยุติการเป็นผู้ประกันตนแต่หากกรณีผู้ประกันตนประสบเหตุทุพพลภาพก่อนแสดงความจำนงไม่เป็นผู้ประกันตน มีสิทธิขอรับเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในบัญชี และรัฐบาลไม่มีการค้ำประกันผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน

เมื่อเห็นข้อแตกต่างแบบนี้แล้ว โปรดพิจารณาด้วยตัวเองว่าแบบไหนดีกว่ากัน

สำหรับความเคลื่อนไหวของเครือข่ายแรงงาน ภายหลังจาก ครม.เห็นชอบ พ.ร.ฎ.ทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 บัณฑิตย์ ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการฟ้องนายกิตติรัตน์ โดยมีนายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นทนายความ และจะประชุมสรุปประเด็นฟ้องในวันที่ 10 ก.ค.นี้

นับเป็นดาบสองที่มุ่งเป้าไปยังนายกิตติรัตน์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้โดนนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ล่ารายชื่อ สส.พรรคประชาธิปัตย์ 131 คน ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา270 ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการจงใจใช้อำนาจขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ. 2554 และเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

"ประเด็นฟ้องก็มีไม่กี่ประเด็น ถ้าจะฟ้องเพื่อเอาโทษก็มาตรา 157 แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัส ส่วนใหญ่จะเอาผิดยาก อีกทางคือฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้สั่งบังคับใช้กฎหมาย กอช. แต่จะฟ้องมาตราไหนอยู่ในการพิจารณาของคุณวสันต์ที่เป็นทนาย"บัณฑิตย์ กล่าว

ด้าน อุบล ร่มโพธิ์ทอง จากศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และแกนนำสหภาพแรงงานไทยเกรียง ตั้งข้อสังเกตว่า การแช่แข็งกอช.แล้วไปขยายเป็นทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 อีกทั้งมีแนวคิดจะยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 สะท้อนว่านายกิตติรัตน์ ไม่เคารพอะไรเลย ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพประชาชน

"ที่มาของกอช.มองว่าคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เวลาเกษียณแล้วได้เงินน้อย ก็พยายามผลักดันกฎหมายเพื่อให้พวกเราได้ออมสำหรับอนาคต ร่างกฎหมายทำมาก่อนรัฐบาลอภิสิทธิ์อีก กว่าจะผ่านออกมาได้ก็ใช้เวลานาน แล้วมันก็ไม่สำคัญว่ามันจะเป็นกฎหมายของรัฐบาลพรรคไหน อย่างเรื่องมาตรา 40 ก็มาผลักดันสมัยประชาธิปัตย์เหมือนกัน ต้องถามว่ารัฐบาลกลัวอะไรถึงไม่เดินหน้ากอช. ถ้าเปิดสมัครสมาชิกตั้งแต่ปีก่อน ออมคนละ 100 บาท แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ป่านนี้เป็นเงินเท่าไหร่แล้ว"อุบล กล่าว

อุบล ยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องการให้เดินหน้า กอช.ต่อ เพราะการมีอยู่ของ กอช.มาจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่สำหรับประกันสังคมมาตรา 40 มาจากกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกา ซึ่งความมั่นคงต่างกัน กฎหมายพระราชกฤษฎีกาแก้ไขได้ง่ายกว่าและไม่มีหลักประกันสำหรับคนออมเงินในอนาคต

"สปส.จะขยายทางเลือกมาตรา 40 อีกกี่กรณีก็ได้ จะทำคู่ขนานก็ได้เราไม่ว่า แต่สำหรับแรงงานแล้วยืนยันว่าต้องเป็นกอช.เท่านั้น"อุบล กล่าวทิ้งท้าย