ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของวัณโรคกระบือ พร้อมแนะนำประชาชนสังเกตอาการและคัดแยกสัตว์ป่วย เช่น สัตว์มีอาการอ่อนแอ ผอม น้ำหนักลด ไอ หอบ อาจพบมดลูกหรืออัณฑะอักเสบ เป็นต้น ส่วนในคนป้องกันง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยการไม่เข้าไปคลุกคลีกับสัตว์ ไม่รับประทานเนื้อกระบือแบบสุกๆ ดิบๆ เป็นต้น

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จากกรณีที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ จังหวัดสุรินทร์ ประกาศว่า มีการพบวัณโรคระบาดในกระบือตามชายแดนจังหวัดสุรินทร์ พร้อมระบุให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่เกิดโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งจากการตรวจสอบกระบือทั้ง 259 ตัว พบว่ามีกระบือที่ติดเชื้อวัณโรคแล้ว 3 ตัว ต้องทำลายทิ้งและใช้ยาฆ่าเชื้อที่รางน้ำ รางอาหาร ส่วนที่เหลือต้องกักบริเวณไว้ก่อนและต้องตรวจซ้ำจนกว่าจะได้รับการยืนยันผลการตรวจเลือดว่าติดเชื้อหรือไม่ หากพบติดเชื้อต้องทำลายทิ้งเช่นกัน

เชื้อวัณโรคชนิดนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งเชื้อวัณโรคในกระบือเป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ ไมโคแบคทีเรียม โบวิส นั้น การติดโรคจากสัตว์สู่สัตว์ มีหลายวิธีทั้งทางลมหายใจ การกินอาหาร การดื่มน้ำร่วมกัน หรือแม้แต่การที่ลูกดูดนมจากแม่ที่ติดเชื้อวัณโรคก็สามารถติดเชื้อได้ เช่นเดียวกับในคนที่สามารถติดเชื้อวัณโรคจากกระบือได้เช่นเดียวกัน โดยในคนนั้นจะติดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของกระบือ การคลุกคลีกับสัตว์ การบริโภคนมกระบือที่มีเชื้อวัณโรคและยังไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ การรับประทานกระบือแบบสุกๆดิบ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง ป้องกัน การแพร่ระบาดมาสู่คนอย่างใกล้ชิด ให้ความร่วมมือกับปศุสัตว์ในการควบคุมโรคในสัตว์

ด้าน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สคร.5) ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดของโรควัณโรคกระบือมาสู่คนอย่างใกล้ชิด จากรายงานเบื้องต้นพบว่า บุคลากรที่ใกล้ชิดกับสัตว์ในศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ไม่มีใครป่วยเป็นวัณโรคหรือมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

สำหรับอาการของสัตว์ที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่ระยะแรกจะไม่มีการแสดงอาการ ซึ่งจะแสดงอาการให้เห็นหลังจากได้รับเชื้อมาเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน(หลายเดือนหรือหลายปี) โดยส่วนใหญ่จะพบว่าสัตว์ป่วยอ่อนแอ ผอม น้ำหนักลด ไอ หอบ อาจพบมดลูกหรืออัณฑะอักเสบ และตายในที่สุด หากคนได้รับเชื้อวัณโรค คนป่วยจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอถี่ ไอรุนแรง เสมหะมีเลือดปน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก การรักษาจะใช้เวลานาน ในรายที่ป่วยถึงขั้นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด หากประชาชนตรวจพบว่าสัตว์เป็นโรคควรแยกสัตว์ที่ป่วยออกจากฝูง และทำลายหรือกำจัดทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรทำการตรวจกระบือบริเวณใกล้เคียงด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนพบสัตว์ป่วยผิดปกติ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มาตรวจสอบโดยเร็ว และควรทำการตรวจสัตว์บริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดด้วย ทั้งนี้ ขอแนะนำว่า หากพบว่าสัตว์ป่วยเป็นวัณโรค ก็ควรทำการฆ่าทิ้ง เพราะยังไม่มียาที่รักษาได้ผลดี และเป็นลดการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ ควรทำการตรวจโรคกับโรงเลี้ยงสัตว์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย เพราะสัตว์ที่ป่วยเป็นวัณโรคส่วนใหญ่จะไม่มีการแสดงอาการ อย่างไรก็ตามโรควัณโรคปกติแล้วในสัตว์จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันอยู่แล้ว ในส่วนของกรมควบคุมโรคก็มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดมาสู่คนต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค เบอร์โทรศัพท์ 1422