ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปารีส/ลอนดอน (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) – ทีมผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสชี้ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus - MERS-CoV) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายสิบรายในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย ยังไม่สามารถพัฒนาจนกลายเป็นโรคระบาดได้ แต่ควรต้องเฝ้าระวังในกรณีที่ไวรัสอาจกลายพันธุ์

งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ลงวารสารการแพทย์แลนเซ็ต ระบุว่า จากการวิเคราะห์พบว่า ไวรัส MERS-CoV ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาจนกลายเป็นโรคระบาด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ของฝรั่งเศส ยังเตือนให้ศูนย์เฝ้าระวังด้านสาธารณสุขต่างๆ เตรียมการป้องกันอย่างเต็มที่ และเร่งศึกษาช่องทางการแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้ โดยแนะนำให้ทุกฝ่ายเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามผู้ที่ได้รับเชื้อ ระบุชนิดของสัตว์ที่จะเป็นพาหะเชื้อ MERS-CoV และช่องทางที่เชื้อจะติดต่อมาสู่คนได้

ไวรัสซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ, เป็นไข้ และปอดบวม เริ่มแพร่กระจายจากกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียมายังฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมนี และอิตาลี โดยเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) ซึ่งเคยแพร่ระบาดในจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2003 และทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกถึง 775 ราย ปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส MERS แล้วทั้งสิ้น 43 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในซาอุดีอาระเบีย 36 ราย อัตราการเสียชีวิตถือว่าค่อนข้างสูง คือประมาณ 1 ใน 2 ของผู้ป่วย ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นชายชาวกาตาร์ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่าโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "เอช1 เอ็น1" กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศชิลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 คน ทั้งหมดอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการระบาดสูงกว่าบริเวณอื่นถึง 6 เท่า โดยอัตราส่วนผู้ป่วยตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 148 คน จากจำนวนประชากร 100,000 คน สูงกว่าอัตราส่วนเฉลี่ยทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 24 คน ต่อประชากร 100,000 คน

ที่มา: http://www.naewna.com