ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชี้ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย เป็นสาเหตุการเสียชีวิต ที่สำคัญ สปสช.พัฒนาเครือข่ายรักษาทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย เชื่อมต่อหน่วยบริการส่งต่อและรับกลับ 855 แห่งทั่วประเทศ ลดอัตราการเสียชีวิต ภาวะแทรกซ้อนและความพิการ ดัน รพ.สุราษฎร์ธานี พัฒนาเครือข่ายภายในจังหวัดและใกล้เคียง

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการดำเนินงานเครือข่ายบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม ในระดับ จ.สุราษฎร์ธานี  โดยระบุปัญหาทารกเกิดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย ถือเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่สำคัญ ส่งผลต่อสุขภาวะของประชากร และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ เนื่องจากทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ทั้งจำนวนเตียงรองรับ เครื่องมือและครุภัณฑ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกุมารแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางทารกแรกเกิด รวมไปถึงการส่งต่อไปรักษาระดับเหนือกว่า ดังนั้น สปสช.จึงมีแนวทางพัฒนาเครือข่ายบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการบริการแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างคุ้มค่า และเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาในแต่ละระดับหน่วยบริการ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

"จากการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพบริการ โดยการสนับสนุนครุภัณฑ์ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ โดยผ่านคณะทำงานพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้านที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด และความร่วมมือภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย ตลอดจนการพัฒนาระบบการส่งต่อส่งกลับ ปัจจุบันจึงมีหน่วยบริการเครือข่ายเพิ่มเป็น 855 แห่ง จากเดิมปี 2554 จำนวน 662 แห่ง แบ่งเป็นหน่วยบริการแม่ข่าย 27 แห่ง และหน่วยบริการลูกข่าย 828 แห่ง ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายส่งผลให้การเสียชีวิตของทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยลดลง จาก ร้อยละ 10.42 ในปี 2548 ลดลงเหลือ ร้อยละ 9.76 ในปี 2555" นพ.วินัย กล่าว

นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ภาวะเจ็บป่วยในทารกแรกเกิดเป็นปัญหาที่ทางสาธารณสุขให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เกิดภาวะแทรกซ้อน ความพิการและปัญหาโรคเรื้อรังต่อไป ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณในการดูแลรักษาต่อเนื่องสูง โดยเฉพาะทารกที่มีภาวะวิกฤติ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ในหออภิบาลทารกแรกเกิดที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพียงพอ เพื่อให้ทารกมีอัตรารอดชีวิตที่สูงขึ้น "จากการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพบริการ ที่ผ่านมาพบว่าในการดูแลทารกแรกเกิด น้ำหนักน้อยยังมีระบบบริการที่ไม่เชื่อมต่อกันเท่าที่ควร โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จึงได้ร่วมมือกับ สปสช.ในการพัฒนาเครือข่ายบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยขึ้นภายในจังหวัดและใกล้เคียง เพื่อให้เข้าถึงบริการได้ทั่วถึงมีคุณภาพมาตรฐาน โดยโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีทำหน้าที่เป็น แม่ข่าย มีลูกข่ายคือโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด และขยายความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียงในการพัฒนา

"ผลจากการเข้าร่วมการพัฒนาเครือข่ายบริการทารกแรกเกิด กับสปสช.ตั้งแต่ปี 2553 ทำให้อัตราการรอดชีวิตของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 1,000 กรัม ที่เข้ารับการรักษาในหอทารกแรกเกิดวิกฤติ อัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น จาก ร้อยละ 39.29 ในปี 2553 เพิ่มเป็น ร้อยละ 64.86 ในปี 2555 ขณะเดียวกัน รพ.สุราษฎร์ธานี ยังเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ และการติดตามเยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงด้วย" นพ.อดิเกียรติ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 กรกฎาคม 2556