ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีการอภิปรายเรื่อง "วัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค" ในงานประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ว่า หลายประเทศมีการปรับกระบวนการการให้วัคซีนใหม่ เนื่องจากมีโรคอุบัติซ้ำเกิดขึ้น โดยโรคอุบัติซ้ำที่ทุกประเทศทั่วโลกพบเหมือนกันคือ โรคไอกรน อย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรปจะแก้ปัญหาด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ทารกแรกเกิดได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนแรกหลังคลอด ซึ่งเดิมทีการฉีดวัคซีนนี้ให้แก่เด็กเล็กจำนวน 5 เข็ม คือ ตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปีครึ่ง และ 5 ปีนั้น ในช่วง 4 เดือนยังอาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ทำให้เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือนเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

"การฉีดวัคซีนให้แก่หญิงตั้งครรภ์จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหา แม้จะฉีดครบ 5 เข็มแล้ว ก็ควรกลับมาฉีดใหม่อีกครั้งตอนอายุ 15-16 ปี เพราะปัจจุบันพบว่า 10-20% ของผู้ที่ไอเรื้อรังเป็นโรคไอกรน ซึ่งประเทศไทยต้องมีการกระตุ้นให้กลับมาฉีดอีกครั้ง อย่างน้อย 1 เข็มก็ยังดี เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าวัคซีนทุกชนิดไม่ได้ป้องกันโรคได้ 100% เพียงแต่ช่วยให้อาการป่วยรุนแรงน้อยลง" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ภายในงานเดียวกัน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวถึงการเตรียมบรรจุวัคซีนชนิดใหม่ ว่า   ขณะนี้มี 4 ชนิดที่เตรียมผลักดันเข้าสู่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานตัวใหม่ คือ 1.วัคซีนโรตา เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในเด็ก 2.วัคซีนเอชพีวี (HPV) เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่ 20,000 คนต่อปี เสียชีวิต 5,000 รายต่อปี ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความคุ้มค่า โดยเวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีนคือผู้หญิงช่วงอายุ 9-26 ปี 3.วัคซีนไอพีดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดบวม โรคหูน้ำหนวก ฯลฯ และ 4.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันให้วัคซีนแบบเฉพาะกลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ จึงต้องมีการบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยมุ่งฉีดให้แก่หญิงตั้งครรภ์

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 13 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--