ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เปิดเผยในการประชุมหารือ “ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….”ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ อาคารซอฟท์แวร์ปาร์คว่า

"ขณะนี้ร่างฯประกันสังคมได้ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว สิ่งที่ภาคประชาชนจะติดตามได้คือการแปรญัติว่าจะสามารถแก้ไขประเด็นใดได้บ้าง ทั้งนี้ร่างฯประกันสังคมได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะแรงงานไทยที่มีอยู่จำนวน 10 ล้านคน ซึ่งคปก.ได้มีความเห็นอย่างเร่งด่วนไปก่อนหน้านี้ขอให้ไม่ยืนยัน เพื่อให้ร่างฯของประชาชนได้กลับเข้าไปแต่ก็ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตามพบ มีข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายเข้าชื่ออีกประมาณ 30 ฉบับ การที่รัฐบาลไม่รับหลักการของร่างฯประกันสังคมฉบับของประชาชน แล้วร่างกฎหมายเข้าชื่ออีกหลายฉบับอาจจะถอดบทเรียนจากกรณีนี้"

“เนื้อหาในร่างฯยังไม่สามารถนำไปสู่การผลักดันการตอบโจทย์ ตามที่ผู้ประกันตนกว่า 1 ล้านคนคาดหวัง จากการปภิปรายในการประชุมครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า แม้แต่ขบวนแรงงานและนักวิชาการยังตามไม่ทัน ไม่สามารถเข้าไปผลักดันในรายมาตราได้ หลายฝ่ายจึงอภิปรายตั้งโจทย์ไว้ ครั้งนี้จึงถือเป็นบทเรียนของภาคประชาชน” นางสุนี กล่าว

นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... กล่าวว่า ตนได้ขอสงวนความเห็นไว้หลายประเด็นในร่างฯดังกล่าว โดยเฉพาะการขอแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 8 ร่างฯที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ระบุให้รัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการแต่ตนเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน และยังขอสงวนความเห็น โดยขอให้ตัดมาตรา 8/1 ออกทั้งมาตรา

ด้านนายชาลี ลอยสูง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... กล่าวว่า ตนได้ขอแปรญัติ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ด้านหลักประกันสุขภาพ ด้านการแพทย์ ด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน การคลัง ด้านการบริหารการลงทุน ด้านกฎหมายด้านพัฒนาสวัสดิการสังคม และด้านสิทธิมนุษยชนด้านละ1 คน รวม 8 คน ส่วนกรณีมาตรา 63 ตนขอสงวนความเห็น โดยขอให้เพิ่มเติมความในมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ซึ่งว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน ได้ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมทั้งค่าตรวจสุขภาพประจำปีไว้ด้วย

 “ไม่เห็นด้วยใน2ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐมนตรีเข้ามาอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ขณะเดียวกันในการเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างควรจะเป็นรูปแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง”

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพิจารณาครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานต่างด้าวและแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับสิทธิแบบมีส่วนร่วม ที่จะมีการบูรณาการร่วมกัน ขณะเดียวกันคงต้องพิจารณาด้วยว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการจัดสวัสดิการสังคมทั้งระบบอย่างไร

ด้านนางวิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมยังไม่ตอบโจทย์ เพราะยังขาดระบบตรวจสอบ อีกทั้งเห็นว่าประธานควรจะมาจากการสรรหา ไม่ใช่เพียงปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีเท่านั้น ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสวัสดิการและประกันสังคม และมีความเป็นมืออาชีพในการบริหารสำนักงานประกันสังคม อย่างไรก็ตามโดยจุดยืน แม้ร่างฯฉบับประชาชนจะไม่ได้เข้าไปในชั้นกรรมมาธิการแต่ยังอยากเน้นเรื่องการบริหารกองทุนอย่างยั่งยืน

นายโชคชัย สุธาเวศ กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวว่า เรามีข้อถกเถียงและทางเลือกที่ไม่ตรงกันซึ่งตนเห็นว่าควรจะหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ส.ส.มีเกณฑ์ในการตัดสินใจและโหวตได้ แต่ขณะนี้เรายังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ทั้งเรื่องสถานภาพ,การสรรหา,องค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิควรจะมีหรือไม่หากมีควรจะเป็นรูปแบบใด ตนจึงคิดว่า ควรจะมีมุมมองทางวิชาการออกมาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ข้อข้อด้อยในระยะยาว

ผู้แทนภาคประชาชน มีข้อเสนอแนะโดยรวมว่า ควรจะมีตัวแทนของแรงงานนอกระบบอยู่ในองค์ประกอบของกรรมการ ทั้งนี้สนับสนุนให้ใช้แนวทางการเลือกตั้งทางตรง ขณะเดียวกันเห็นว่าควรเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมอยู่