ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะวิจัยมหาวิทยานเรศวรประชาพิจารณ์ดีอาร์จีรุ่นที่ 5.2 สำหรับให้รพ.เบิกจ่ายผู้ป่วยใน แจงปรับปรุงน้ำหนักสัมพัทธ์หรือน้ำหนักของโรคใหม่เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงให้ครอบคลุม เช่น กลุ่มโรคแทรก กลุ่มโรคมะเร็ง ชี้การเปลี่ยนรุ่นเพื่อปรับปรุงรุ่นก่อนหน้าให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น เผยดีอาร์จีรุ่นที่ 5.2 พัฒนาต่อเนื่องโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ผ่านการประชาพิจารณ์ 2 ครั้งจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเพื่อป้องกันไม่ให้รพ.สับสน ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพได้ตกลงว่าจะใช้ดีอาร์จีรุ่นเดียวกัน

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เพื่อปรับปรุงก่อนประกาศใช้ดีอาร์จีรุ่นที่ 5.2 (DRGs Version 5.2) สำหรับการจ่ายเงินชดเชยผู้ป่วยในให้กับโรงพยาบาล ทั้งนี้ที่ผ่านมา 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้ง ข้าราชการ ประกันสังคม และสปสช. ได้ใช้ ดีอาร์จี หรือระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostic Related Groups) เป็นเครื่องมือในการจ่ายชดเชยผู้ป่วยในให้กับโรงพยาบาลโดยตลอด โดยเฉพาะสปสช.ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2546 โดยใช้ตั้งแต่รุ่นที่ 3 เปลี่ยนมาเป็นรุ่นที่ 4 และปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5.1 ซึ่งดีอาร์จีรุ่นที่ใหม่กว่าจะมีการปรับปรุงในรุ่นก่อนหน้าให้มีความละเอียดสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น เช่น รุ่นที่ 3 มีการจัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม 1,283 กลุ่ม รุ่นที่ 4 การจัดกลุ่มเพิ่มเป็น 1,920 กลุ่ม และรุ่นที่ 5 จัดกลุ่มโรคและหัตถการเพิ่มขึ้นเป็น 2,450 กลุ่ม ซึ่งมีความละเอียดมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักสัมพัทธ์ที่ได้มีความสอดคล้องกับการวินิจฉัยโรคและหัตถการมากขึ้น และเพื่อป้องกันความสับสนของโรงพยาบาลทั่วประเทศในการเบิกเงินชดเชยจากกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนได้ตกลงร่วมกันว่าจะประกาศใช้ดีอาร์จีรุ่นเดียวกัน

“ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนเป็นรุ่นที่ 5.2 นั้น เป็นการปรับปรุงน้ำหนักสัมพัทธ์ใน Version 5.1 ที่พบว่าไม่สะท้อนการให้บริการจริง เช่น โรคร่วมโรคแทรก หัตถการบางอย่าง กลุ่มเจาะคอ กลุ่มเด็กแรกเกิด มะเร็ง ค่ารักษารายหมวด ซึ่งเป็นจุดที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าต้องทำการคำนวนใหม่ หรือที่เรียกว่า Re calibration ทั้งนี้ได้มีการใช้ข้อมูลจากทั้ง 3 กองทุนมา Re calibration ดังกล่าว” นายแพทย์ศุภสิทธิ์ กล่าว

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดีอาร์จีมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ใช้ข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยในจากโรงพยาบาลทั่วประเทศที่บันทึกเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการข้าราชการ สำหรับดีอาร์จีรุ่นที่ 5.2 นั้น หลังจากคณะวิจัยได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งได้มีการประชุมระดมสมองและประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มานำเสนอประเด็นที่ต้องการให้มีการปรับปรุง และเมื่อคณะนักวิจัยจัดทำต้นร่างแล้ว ได้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นต่อสิ่งที่นักวิจัยได้ทำเป็นต้นร่าง และประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 โดยการประชาพิจารณ์ทั้ง 2 ครั้ง มีตัวแทนเข้าร่วม จากกระทรวงสธ. และกรมที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ราชวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เช่น ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งผลจากการประชาพิจารณ์นั้น นักวิจัยจะต้องไปทบทวนอีกหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการตกลงร่วมกันระหว่างกองทุนก่อนที่จะมีการประกาศใช้