ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอศุภสิทธิ์” ห่วงข้อเสนอร่วมจ่าย ณ จุดบริการ กระทบผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา แถมรายได้หนุนเพียงร้อยละ 10 แนะทางออก ร่วมจ่ายโดยจัดเก็บภาษี ไม่กระทบผู้ป่วย

.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย

.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงแนวทางการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องลงทุน ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นว่ารัฐจะไม่ลงทุนสุขภาพให้กับประชาชน ทั้งนี้ข้อเสนอการร่วมจ่ายนั้นมองว่าที่เป็นปัญหาขณะนี้คือการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ซึ่งการร่วมจ่ายรูปแบบนี้จะเป็นแหล่งรายได้ไม่มากเพียงแค่ร้อยละ 10 ของงบประมาณที่นำมาใช้เท่านั้น ดังนั้นทางออกที่ดีในเรื่องนี้ คือต้องเป็นการร่วมจ่ายก่อนที่ประชาชนเจ็บป่วย อย่างการจัดภาษีสุขภาพ เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลียที่มีการจัดเก็บภาษีสุขภาพ โดยอาจมีการจัดเก็บเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3 เพื่อนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตามในการจัดเก็บภาษีในบ้านเราปัจจุบันยังเป็นปัญหา เพราะมีการจัดเก็บในอัตราที่น้อยไปไม่สัมพันธ์กับรายได้ และเท่าที่ดูงบประมาณที่รัฐบาลให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังน้อยเกินไป แม้ว่าสัดส่วนรายจ่ายสุขภาพภาพรวมที่รัฐให้กับประชาชน ทั้งในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงระบบอื่นๆ จะอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ก็ตาม โดยงบประมาณที่ภาครัฐลงทุนในด้านสุขภาพต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ ซึ่งเป็นระดับงบประมาณทั่วไปสำหรับประเทศที่ดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ประเด็นที่ถกเถียงกันมากขณะนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นการร่วมจ่ายตอนป่วย ซึ่งเป็นเผือกร้อน จากการวิเคราะห์ มองว่ารายได้ที่จะมาสนับสนุนระบบสุขภาพจากตรงนี้ไม่มากเท่าไหร่ และหากจะจัดเก็บจริงต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและติดตาม เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาได้มาก โดยเฉพาะคนจน แม้ว่าจะเป็นการร่วมจ่ายเพียงร้อยละ 10 ก็ตาม เพราะในโรคค่าใช้จ่ายสูงก็เป็นค่าใช้จ่ายที่มาก จึงต้องมีการร่วมจ่ายก่อนป่วย ซึ่งเป็นทางออกที่ดี” ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าว